วันนี้ (11 พ.ค.2565) สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักวิจัยและพัฒนา แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมของประชาชนต่อการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ซึ่งเป็นการจัดทำขึ้นครั้งแรกสำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ และเป็นการตอบแบบสำรวจผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์
นางถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 1,038 คน แบ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 702 คน ไม่มีสิทธิ 336 คน พบว่า ร้อยละ 42.4 ตัดสินใจเลือก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, รองลงมาร้อยละ 18.2 ยังไม่ตัดสินใจ, ร้อยละ12.0 เลือกนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, ร้อยละ 6.7 เลือก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, ร้อยละ 5.7 เลือกนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และนายสกลธี ภัททิยะกุล, ร้อยละ 2.7 เลือกนางสาวรสนา โตสิตระกูล, ร้อยละ 2.3 เลือกนายโฆสิต สุวินิจจิต, ร้อยละ 2.1 ไม่ประสงค์ลงคะแนน และร้อยละ 2.0 เลือก น.ต.ศิธา ทิวารี
ปัจจัยในการเลือกผู้ว่าฯ กทม. ร้อยละ 62.3 นโยบายของผู้สมัคร, ร้อยละ48.9 ประสบการณ์การทำงานของผู้สมัคร, ร้อยละ 29.9 พูดจริง ทำจริง จริงใจ ในการแก้ปัญหา
โพลชี้อยากให้แก้ "ขนส่งสาธารณะ-จราจร" มากสุด
สำหรับประเด็นที่อยากให้ผู้ว่า กทม.ดำเนินการ ร้อยละ 66.4 เรื่องการขนส่งสาธารณะและการจราจร, ร้อยละ 64.2 การจัดการสิ่งแวดล้อม ความสะอาด พื้นที่สีเขียว, ร้อยละ 52.5 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, ร้อยละ 45.5 น้ำท่วมขัง, ร้อยละ 41.7 ระบบสาธารณสุข สุขอนามัย
ทั้งนี้ ที่น่าสนใจ คือ เรื่องความเชื่อมั่นในการจัดการเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 71.9 เชื่อว่าจะมีการซื้อเสียง ร้อยละ 49.1 เชื่อว่า กกต. จะสามารถจัดการการเลือกตั้งได้อย่างโปร่งใส สุจริตและเที่ยงธรรม ขณะที่ ร้อยละ 93.6 ตั้งใจไปเลือกตั้งแน่นอน ร้อยละ82.5 ระบุชื่อผู้สมัครได้อย่างน้อย 5 คน ส่วนร้อยละ 85.2 ทราบว่าคูหาเลือกตั้งอยู่ที่ใด
นางถวิลวดี กล่าวว่า ผลสำรวจยังสะท้อนเรื่องการส่งเสริมผู้หญิงให้เข้าสู่การเมือง โดยร้อยละ 39.5 จะเลือกผู้สมัครที่เป็นผู้หญิง เพราะเห็นว่ามีความสามารถเท่าผู้ชายมีผลงานดีและให้โอกาส
นอกจากนี้ ผลสำรวจการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการหาข้อมูลผู้ว่าฯ กทม . ทางอินเทอร์เน็ต ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก ป้าย สื่อโซเชียล ส่วนใหญ่ร้อยละ 32.5 ติดตามข้อมูลหลายครั้งต่อสัปดาห์, ร้อยละ 27.9 ติดตาม 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์, ร้อยละ 25.2 ทุกวัน และร้อยละ 13.2 แทบจะไม่เคยติดตาม
ส่วนประเด็นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรกี่ใบ โดยมีคนไม่รู้และตอบผิดว่า มีบัตรเลือกตั้งกี่ใบถึงร้อยละ 30.1 มีคนตอบถูกร้อยละ 69.9 ส่วนเวลาในการลงคะแนน คือ ช่วงเวลาใด มีคนไม่รู้และตอบผิดถึงระยะเวลาการลงคะแนนเสียง ร้อยละ 51.3 และตอบถูกร้อยละ 48.7 ส่วนวาระในการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าฯ ร้อยละ 86.5 ตอบถูก ส่วนร้อยละ 13.5 ไม่ทราบและตอบผิด ส่วนคำถาม ส.ก. มีทั้งหมดกี่คน ร้อยละ 58 ไม่ทราบ