ปีนี้นับเป็นปีทองของทุเรียน เพราะราคายืนพื้นในระดับเกินร้อยบาทต่อกิโลกรัมได้นาน อย่างสมัยก่อน “หมอนทอง” ช่วงที่ราคาสูง ก็อยู่ประมาณกิโลกรัมละร้อยกว่าบาท แต่ปัจจุบัน มีราคาตั้งแต่ 120 บาท ไปจนถึงกิโลกรัมละ 180 บาท หากเป็นเกรดพรีเมียม
ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ราคาทุเรียนสูง เนื่องจากการแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนอย่างจริงจังในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ปัญหาทุเรียนอ่อน เป็นปัญหาใหญ่ ทำลายตลาด บางคนมองว่า ไม่มีทางแก้ได้ เพราะเป็นปัญหาที่มีมานาน แต่สุดท้าย ได้แนวทางแก้ไข โดยการกำหนดวันตัดทุเรียน แต่ละสายพันธุ์ เพื่อไม่ให้ตัดทุเรียนอ่อน
จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี อัยการ และตำรวจ ได้ศึกษาข้อกฎหมายและออกคำสั่ง ครอบคลุม จ.จันทบุรี ระยอง และตราด
เมื่อมีกฎหมายรองรับ จึงมีการจัดตั้งชุดปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนในภาคตะวันออก ตั้งแต่ปี 2564 ภายใต้ชื่อ “ทีมเล็บเหยี่ยว กรมวิชาการเกษตร” นำโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 หรือ สวพ.6 ซึ่งมีภารกิจ ตรวจสอบความอ่อนแก่ของทุเรียนทุกตู้ หรือทุกชิปเมนต์ที่ส่งออก
นอกจากทีมเล็บเหยี่ยวยังมีชุดปฏิบัติการฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีทีมอาสาสมัครตรวจสอบทุเรียน ที่เป็นเครือข่ายภาคประชาชน ประมาณ 70 คน
การกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน ในฤดูกาลผลิตปี 2565 พันธุ์กระดุม วันที่ 20 มี.ค.พันธุ์ชะนีและพวงมณี วันที่ 10 เม.ย. และพันธุ์หมอนทอง วันที่ 25 เม.ย. หากจะเก็บเกี่ยวก่อน ต้องแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอเพื่อตรวจสอบเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนเก็บเกี่ยว
นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) เปิดเผยว่า ทีมเล็บเหยี่ยวเริ่มตรวจทุเรียนอ่อนมาตั้งแต่ต้นฤดูกาล หรือ 15 ก.พ.2565 ซึ่งก่อนวันเก็บเกี่ยวทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ จะต้องตรวจตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งออกทุกตู้ และ หลังวันเก็บเกี่ยว จะสุ่มตรวจอีกครั้ง โดยเฉพาะโรงคัดบรรจุหรือล้ง ที่เคยมีประวัติพบทุเรียนอ่อน
ในการการตรวจสอบล้ง แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สีเขียว ไม่พบทุเรียนอ่อนหรือพบน้อยมาก, สีเหลือง พบทุเรียนอ่อนบ้าง ต้องเฝ้าระวัง, และสีแดง พบทุเรียนอ่อนบ่อย เคยถูกดำเนินคดี ซึ่งปัจจุบันตรวจไปแล้วมากกว่า 400 ล้ง ส่วนใหญ่เป็นสีเขียว
ส่วนสีเหลืองและสีแดง ยอมรับว่าแก้ไม่ง่าย เหตุผลเพราะมือตัดอาจยังนิ่งไม่พอ หรือ ล้งเหล่านี้ ไม่ใช่เจ้าของแบรนด์ เป็นเพียงล้งรับจ้างบรรจุกล่องเท่านั้น จึงเน้นปริมาณไม่เน้นคุณภาพ ทั้งนี้ การพบทุเรียนอ่อนในล้ง จะมีเกณฑ์กำหนดบทลงโทษด้วย
นอกจากการตรวจทุเรียนอ่อน ยังตรวจมาตรฐานการป้องกันโควิด-19 หรือ GMP+ ในล้งด้วย ซึ่งจะดูตั้งแต่ความปลอดภัยของแรงงาน ความสะอาดของล้ง และตู้คอนเทนเนอร์
แต่กรณีที่ส่งออกไปแล้ว และตู้สินค้าพบเชื้อโควิค-19 จีนจะแจ้งมาไทย และ กรมวิชาการเกษตรจะสั่งระงับการส่งออก โดยจะให้เวลาล้งแก้ไขปัญหา 5 วัน หลังจากนั้น กรมวิชาการเกษตรจะสุ่มตรวจอีกครั้ง ก่อนส่งออก
การจัดการเหล่านี้ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและล้ง ยอมรับว่า ส่งผลดีต่อคุณภาพและราคาทุเรียนในปีนี้อย่างมาก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน
สอดคล้องกับ นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี ที่ระบุว่า ตามปกติตอนนี้ราคาทุเรียนต้องลดลงแล้ว แต่ปรากฏว่า ยังสามารถยืนราคาในระดับสูงได้ ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการและคุณภาพที่ดี
ส่วนการส่งออกไปจีน ยังมีปัญหาติดขัดบ้าง แต่ก็มีการปรับตัวและประสานงานของภาครัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ทำให้ตอนนี้เวลาตรวจพบ จะมีการแจ้งเตือน ระบุถึงวิธีการที่ต้องปรับปรุง ทำให้ไทยสามารถทำตามเกณฑ์ของจีน และ ส่งออกทุเรียนไปได้
นันทินี ลายละเอียด
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส