เมื่อวันที่ (19 พ.ค.65) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชี่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ประเด็นปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีเอกสารสิทธิ
ผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งแกนนำพรรค และ ส.ส.พรรคในพื้นที่ เช่น นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ นายกูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส เขต 3 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต 4
สาระสำคัญของการประชุม คือ เตรียมผลักดันการแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 เนื่องจากกระทบสิทธิของประชาชน และทำให้ประชาชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินที่ถูกประกาศเขตอุทยานฯ กลายเป็น “ผู้อาศัย” ทั้งที่อาจอยู่มาก่อนประกาศ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า พรรคประชาชาติจัดเวทีรับฟังความเห็นและให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ไปแล้วหลายครั้ง แต่พบปัญหานี้ยังทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนลำบากอยู่ จึงต้องการให้มีการแก้ไขให้เป็นรูปธรรม หรือ แก้ไขให้ประชาชนเห็นผล
ดังนั้น เมื่อจะมีการเปิดสมัยประชุมสภา ครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 22 พ.ค.65 และจะประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในระหว่างวันที่ 24 - 26 พ.ค.นั้น ในวันที่ 25 พ.ค.จะมีรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินเข้าสู่วาระให้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่พรรคประชาชาติจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป
“การตั้งกรรมาธิการในลักษณะนี้ ไม่ว่ารัฐบาลยุคใดสมัยใดก็ตั้ง พอตั้งแล้วก็ศึกษา และจัดทำรายงานเก็บไว้ที่สภาฯ อย่างสมัยท่านอารีเพ็ญ ก็มีรายงานของท่านอารีเพ็ญเก็บไว้ที่สภาฯ แล้วก็มีรายงานเก่า ๆ จำนวนมาก แต่กลับไม่ถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติ แต่ครั้งนี้เราจะทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้นมา”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ในรายงานที่จะเสนอสภาฯ มีประเด็นเกี่ยวกับการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์มากกว่า 220 แห่งทั่วประเทศ มีชุมชนที่ถูกประกาศแนวเขตป่าไม้ทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่
ยกตัวอย่างเช่น การประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา ครอบคลุมพื้นที่ 9 อำเภอ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนจำนวนมาก เพราะถูกประกาศเขตอุทยานทับที่ดินที่เคยอยู่และทำกินมาก่อน
“เรื่องของปัญหาที่ดินได้ถูกบันทึกไว้ในสภาฯ ที่สำคัญ คือ ปัญหาที่เกิดจาก พ.ร.บ.อุทยานฯ หรือ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ หรือ เรียกว่ากลุ่มป่าอนุรักษ์ เป็นกฎหมายฉบับใหม่เพิ่งออกเมื่อเดือน พ.ค.62 คือ เลือกตั้งเสร็จยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรรัฐบาล คสช.ได้รีบออกกฎหมายเลย เพราะถ้าออกในสมัยที่มีรัฐบาลเลือกตั้ง กฎหมายลักษณะนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคงไม่มีใครยอมให้ออก”
เลขาธิการพรรคประชาชาติ ยังกล่าวว่า กฎหมายนี้เมื่อตราออกมา ได้ยกเว้นมาตราสำคัญ ในรัฐธรรมนูญซึ่งในรัฐธรรมนูญจะคุ้มครองสิทธิประชาชนแต่กฎหมายนี้ได้ยกเว้นไว้ เช่น
ยกเว้นรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ที่ระบุว่า บุคคลมีเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย หากจะจับกุมบุคคลใดจะต้องมีหมายของศาล แต่กฎหมายนี้ได้ยกเว้นไว้ โดยหากอยู่ในพื้นที่อุทยานฯ เจ้าหน้าที่จับกุมได้ โดยไม่ต้องไปขอหมายศาล
ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 33 บุคคลมีสิทธิเสรีภาพในเคหสถาน แต่กฎหมายอุทยานฯ ทั้งจับทั้งค้นไม่ต้องใช้หมายศาลเพราะมีการยกเว้นรัฐธรรมนูญ
พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ มีพื้นที่หลายแห่งที่ประกาศเขตทับที่ดินของประชาชน ที่อยู่มาก่อนป่าประกาศ ซึ่งมีมานานแล้ว การแก้ปัญหาได้ใช้มติ ครม.ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541-2542 ให้มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ และให้การคุ้มครองไม่ให้ถูกดำเนินคดี ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา
แต่กฎหมายที่ออก ปี 2562 บัญญัติให้เป็นป่าอนุรักษ์ได้เหมารวมประชาชนที่อยู่อาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ ต้องกลายเป็น “ผู้อยู่อาศัย” ในที่ดินที่มีการพิสูจน์เป็นสิทธิของประชาชน และกฎหมายยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอุทยานฯ ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ พรรคประชาชาติได้รับการร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบมีความเดือดร้อนจำนวนมาก ซึ่งมีความจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานฯ ปี 2562 กับ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี 2562
ในหลักการที่แก้ไขของพรรคประชาชาติ คือ พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นป่าอนุรักษ์ ต้องมิใช่เป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองของประชาชน ตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่น ของบุคคลใดมาก่อน
หรือต้องมิได้เป็นที่ดินที่มีประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อน ให้เพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติที่ทับซ้อนออก”
โดยได้เตรียมเสนอร่างแก้ไขเอาไว้แล้ว และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งประเทศมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมาย คาดว่าจะยื่นหลังเปิดสมัยประชุมสภา