วันนี้ (22 พ.ค.2565) ทีมข่าวไทยพีบีเอสสำรวจย่านสยาม ฟังเสียงสะท้อนของกลุ่ม New Voter ที่จะได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกในรอบ 9 ปี รวมถึงการเลือก ส.ก.ในรอบ 12 ปี
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งแรก คนหนึ่ง กล่าวว่า เป็นการเลือกตั้งที่ตื่นเต้นพอสมควร ซึ่งทั้งครอบครัวได้มีการคุยกันว่าจะเลือกผู้ว่าฯ ที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด
การเลือกตั้งครั้งนี้ คนรุ่นใหม่มองว่าเป็นการก้าวข้ามการเมืองยุคเดิม ที่มักชกใต้สะดือหรือแบ่งพรรคแบ่งพวกด้วยสีเสื้อ ดังนั้นพวกเขาจึงมองภาพฝันของกรุงเทพฯ ว่าใน 10 ปีข้างหน้าจะต้องดีขึ้นกว่าเดิม และเชื่อว่าเสียงคนรุ่นใหม่สามารถเปลี่ยนกรุงเทพได้
นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังได้สะท้อนปัญหาที่อยากให้เปลี่ยนแปลง เช่น อยากให้เปลี่ยนรถเมล์ในเมืองไทยใหม่ เพราะทุกวันนี้ต้องเผชิญกับปัญหา ทั้งฝุ่น PM2.5 และความร้อน ซึ่งทำให้กรุงเทพฯ ไม่สามารถพัฒนาให้ทัดเทียมกับต่างประเทศได้
ขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้มีกว่า 4 ล้านคน ซึ่งจำนวนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือช่วงอายุ 18-27 ปี มีประมาณ 700,000 คน ซึ่งคนรุ่นใหม่มีความสนใจและตื่นตัวในเรื่องการเมืองเป็นอย่างมาก ดังนั้นสนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ เสียงของคนรุ่นใหม่ มีผลอย่างยิ่งในการชี้ชะตาอนาคตของคนกรุง
อ่านข่าวอื่นๆ
4.4 ล้านคนตัดสินอนาคตกรุงเทพฯ ผ่านเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
"เบิร์ด ธงไชย" - คนบันเทิง ทยอยใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
แจงปม "ปากกาสีอื่น" ทำเครื่องหมายกากบาทเลือกตั้งได้