วันนี้ (26 พ.ค.2565) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เกี่ยวกับความไม่โปร่งใสของกรมธนารักษ์เกี่ยวกับการประมูลโครงการท่อส่งน้ำ EEC
โดยตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในการประมูลโครงการท่อส่งน้ำ ที่กรมธนารักษ์ใช้วิธีการคัดเลือก ไม่ได้เปิดประมูลแบบโปร่งใสเป็นธรรม อ้างอิงระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีมูลค่าเกินกว่า 500 ล้านบาท ที่กำหนดให้ใช้วิธีการประมูลก่อน วิธีพิเศษคัดเลือกเลือกเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก แต่ทำไมไม่ประมูลทั่วไป หรือเชิญบริษัทอื่นๆมา เช่น อิตาเลียนไทย ที่มีบริษัทอาควาไทย จำกัด ,บริษัท ซิโน-ไทย , ช.การช่าง ไทยเทป เป็นต้น
นายสันติ ชี้แจงว่าเพราะกรมธนารักษ์ ไม่มีความชำนาญที่จะจัดการท่อส่งน้ำ จึงไปว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญมาออกแบบวิธีการดำเนินโครงการ ยืนยันดำเนินการอย่างรอบคอบรัดกุมในโครงการที่ประมูล โดนแนะให้ใช้วิธีการคัดเลือกจาก 5 บริษัทใหญ่เสนอเป็นตัวเลือก และทราบมาว่า บ.วงษ์สยาม มีประสบการณ์เรื่องท่อส่งน้ำ ส่วนที่ไม่ได้เชิญบริษัท ช.การช่าง บริษัทอิตาเลียนไทย เนื่องจากบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทก่อสร้าง
อ่านข่าวเพิ่ม "ยุทธพงศ์" เตรียมยื่นยับยั้งโครงการท่อส่งน้ำประปา 2.5 หมื่นล้าน
เหตุผลเลือก "อีสวอเตอร์" ชนะประมูล
ส่วนคำถามที่ว่าเหตุผลการยกเลิกผลการคัดเลือกที่บริษัทอีสวอเตอร์ได้รับคะแนนสูงสุด และ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ชี้ว่าบริษัทอีสวอเตอร์ชนะการประมูล แต่ท้ายที่สุดในการประมูลครั้งที่สองบริษัทที่แพ้การประมูลในครั้งแรก กลับชนะการประมูล
ทั้งที่ข้อมูลบริษัทวงษ์สยาม ให้ค่าตอบแทนใน 30 ปี 6,122 ล้านบาท และส่วนแบ่งรายได้ 2,449 ล้านบาท ผลตอบแทนรวม 30 ปี 3,299 ล้านบาท แต่บริษัทอีสวอเตอร์ ให้ค่าตอบแทน 6,689 ล้านบาท ส่วนแบ่งรายได้ 30ปี 2,567 ล้าน ผลตอบแทน30 ปี 3,967 ล้านบาท แต่อธิบดีกรมธนารักษ์ในขณะนั้นสั่งยกเลิกโดยอ้างว่าสัญญา TOR ไม่สมบูรณ์
นายสันติชี้แจงว่า การเปิดซองครั้งที่หนึ่ง TOR ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากบริษัทที่เข้าร่วมประมูลแห่งหนึ่งใช้ตัวเลขน้ำ 150 ล้านลบ.ม. แต่อีกบริษัทนึงใช้ตัวเลข 350 ล้านลบ.ม. ซึ่งข้อมูลต่างกัน และพิจารณาจากกฎระเบียบแล้ว เป็นสิทธิ์ที่คณะกรรมการจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงให้ทั้ง 5 บริษัทเข้าร่วมการแข่งขันใหม่ ทั้งอีสวอเตอร์ ที่ยื่นซองประมูล 24,000 กว่าล้านบาท และวงษ์สยาม กว่า 25,600 ล้าน
พร้อมกับอ้างอิงข้อมูลว่าที่ผ่านมา 30 ปีบริษัทอีสวอเตอร์ จ่ายผลตอบแทนให้กรมธนารักษ์ 500 กว่าล้านบาทเท่านั้น โดยตั้งคำถามว่าเงินหมื่นล้านหายไปไหน โดยจะต้องสอบกระบวนการทั้งหมด ทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาชี้แจงกับประชาชนว่าเงินของแผ่นดินหายไปไหน ซึ่งขณะนี้ DSI -ปปช. กำลังเข้าไปตรวจสอบ หากคัดเลือกบริษัทไม่ดีก็จะส่งผลถึงการของน้ำไปยังพื้นที่ EEC และอาจเกิดความเสียหายได้
"ยุทธพงศ์" ท้าเดิมพันตำแหน่ง "สันติ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายนายยุทธพงศ์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ปลดนายสันติ ออกจาก รมช. คลัง ที่กล่าวว่ามีการประมูลแบบอีอ๊อกชั่น เพราะปัจจุบันเป็นแบบอีบิดดิ้ง ส่วนอีอ๊อกชั่น เป็นการประมูลในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมถามถึงความน่าเชื่อถือ ของบริษัทคู่แข่งในการประมูลระหว่าง บ.อีสวอเตอร์กับ บ.วงษ์สยาม
ก่อนจะประกาศว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อล้มรัฐบาล คนแรกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน EEC และกำกับดูแล และนายสันติ พร้อมพัฒน์ และ พลเอกอนุพงษ์เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะกำกับดูแล กปภ.
อย่างไรก็ตาม นายสันติ ชี้แจงในช่วงท้าย มีการตั้งข้อสังเกตทั้งก่อน และหลังการเซ็นสัญญา ซึ่งได้กำชับไปยังกรมธนารักษ์ตั้งแต่ต้น ในการดำเนินการ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ อย่างเคร่งครัดที่สุดไม่ให้มีการละเว้น ขณะเดียวกันไม่ได้ให้ความสนใจถึงความน่าเชื่อถือของที่ตั้งบริษัทที่ร่วมประมูล ซึ่งจะดูเพียงภายนอกไม่ได้
พร้อมทั้ง ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ได้เชิญไปสอบถามกับเรื่องนี้ จนมีการสั่งการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในกระทรวงการคลัง ตรวจสอบความโปร่งใสในขั้นตอนว่าเป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบหรือไม่ ซึ่งหากผลการเนินการตรวจสอบพบว่าถูกต้องก็จะต้องเดินหน้าต่อ
ช่วงท้ายยุทธพงศ์ ยังท้าเอาตำแหน่งรัฐมนตรี และตำแหน่ง ส.ส.เดิมพันลาออก หากตรวจสอบถอดเทปว่าตลอดการอภิปรายไม่ได้พูดว่าบริษัทอีสวอเตอร์ เป็นรัฐวิสาหกิจ ตามที่นายสันติชี้แจงถึง ให้นายสันติลาออก หากตนพูดจริงยอมลาออก ส.ส.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"กรมธนารักษ์" เลื่อนทำสัญญาโครงการเช่าท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล้าน