การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ถูกฝ่ายค้าน พรรคการเมือง ตลอดจนนักวิชาการ มองตรงกันว่า กรอบการจัดทำงบประมาณไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณปี 2566 มีโครงสร้างงบประมาณ ซึ่งยังคงยึดติดการจัดสรรงบประจำ ขาดการดูแลกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อยและนักเรียนที่ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
จากการพิจารณาเอกสารร่างงบประมาณรายจ่ายปี 2566 พบว่า สัดส่วนงบประมาณเกี่ยวกับการดูแลสวัสดิการประชาชน มีเพียงร้อยละ 2.6 ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว มีสัดส่วนงบประมาณดูแลสวัสดิการไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 ของจีดีพี และงบลงทุนพัฒนาประเทศ มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น โดยจำกัดอยู่ที่ครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง
ทั้งนี้ เสนอให้รัฐบาลปรับลดงบจัดซื้ออาวุธ เพื่อนำมาตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ ยกระดับสวัสดิการ เพิ่มรายได้ผู้มีรายได้น้อย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานรากและเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้และลดความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19
ขณะที่นายสันติ กีระนันท์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ในฐานะอดีตกรรมาธิการวิสามัญงบฯ ระบุว่า กระบวนการจัดทำงบประมาณประจำปี มักมีนักการเมืองที่มีอิทธิพลเข้าแทรกแซงการทำงาน ส่งผลให้การจัดสรรงบฯ ไม่สามารถสะท้อนปัญหาของประชาชน พร้อมตั้งขัอสังเกตว่า งบยุทธศาสตร์กลายเป็นช่องว่างปกปิดรายจ่ายจัดซื้ออาวุธของเหล่าทัพกว่า 6 หมื่นล้านบาท และยังมีแผนจัดซื้อระยะยาวกว่า 4 แสนล้านบาท ในระยะ 10 ปี
สำหรับกรอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณกว่า 6.95 แสนล้านบาท ภายใต้สมมติฐานจีดีพีขยายตัวร้อยละ 3.2-4.2 และเงินเฟ้อเพียงร้อยละ 0.5-1.5
อ่านข่าวอื่นๆ
31 พ.ค.-2 มิ.ย. เกาะติดอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบฯ 3.18 ล้านล้าน
ฝ่ายค้านประกาศไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 66