ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พิธา" คลี่งบฯ ปี 66 ชี้เป็น "งบช้างป่วย ปรับตัวไม่ได้"

การเมือง
31 พ.ค. 65
13:23
4,295
Logo Thai PBS
"พิธา" คลี่งบฯ ปี 66 ชี้เป็น "งบช้างป่วย ปรับตัวไม่ได้"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"พิธา" อภิปรายคลี่งบประมาณปี 66 ชี้เป็น "งบช้างป่วย ปรับตัวไม่ได้" พบงบ 3 ใน 4 ส่วนเป็นรายจ่ายประจำ ทั้งยังจัดงบสวัสดิการข้าราชการสูงกว่างบฯ กระทรวงศึกษาธิการดูแลเด็กทั้งประเทศ ติงงบฯ Soft Power แค่ 60 ล้านบาท ไม่อาจผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้

วันนี้ (31 พ.ค.2565) วันแรกของการประชุมสภาอภิปราย ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท วาระแรก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายไม่รับหลักการ โดยระบุว่า ปีนี้เป็นงบประมาณที่เรียกว่า "งบช้างป่วย ปรับตัวไม่ได้"

นายพิธา ระบุอีกว่า ประเทศไทยมีรายได้ผันผวน รายจ่ายแข็งตัว การกู้จะหลุดกรอบ เมื่อประเทศไทยมีรายได้ 2,490,000 ล้านบาท ทำให้ต้องกู้เพิ่ม 695,000 ล้านบาท ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อให้เพียงพอต่อรายจ่ายที่แข็งตัว 3,185,000 ล้านบาท

ตัวเลขที่สูงที่สุดในงบประมาณฯ ชุดนี้ คือ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของข้าราชการกว่า 3 แสนล้านบาท สูงกว่างบฯ ของกระทรวงศึกษาธิการที่ดูแลเด็กทั้งประเทศ นี่คือปัญหาช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้


รายได้ของรัฐบาลลดลงเรื่อย ๆ จากการเก็บภาษีพลาดเป้ามาโดยตลอด ทำให้ประเทศไทยต้องหารายได้ใหม่ ๆ เนื่องจากรายได้ผันผวน ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2557 - 2566 มากกว่า 75% ของงบประมาณ เป็นงบประจำทั้งหมดต้องไปชำระกับอดีต เมื่อเป็นเช่นนี้ งบประมาณไม่ได้ตอบสนองต่อวิกฤตและโอกาสในอนาคตแต่อย่างใด "นี่คือโครงสร้างงบประมาณที่น่ากลัว และเป็นยาขมที่เราต้องกลืน"

งบฯ สวัสดิการข้าราชการ คือระบบช้างป่วย

ทุก ๆ 1 บาทที่เก็บภาษามาและกู้มา 40% กลายเป็นเงินเดือน สวัสดิการ กับบำนาญข้าราชการ ขณะที่เงินบำนาญข้าราชการเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ข้าราชการเกษียณปัจจุบันมีประมาณ 800,000 คน และ 2580 จะมีถึง 1.2 ล้านคน แค่บำนาญก็เกินงบฯ ที่จะใช้ไปเยอะมาก

นี่เป็นยาขมที่ต้องกลืน และต้องส่งสัญญาณไปยังข้าราชการว่า นี่คือ ระบบช้างป่วย หากปล่อยไว้อีก 10 ปี ถึงปี 2580 งบกว่า 3 แสนล้าน จะกลายเป็นกว่า 8 แสนล้าน แล้วลูกหลานจะมีงบฯ ไปพัฒนาอย่างไร

ทั้งนี้ 70% ของงบประมาณทุกครั้ง ต้องไปชำระกับอดีต 30% เอาไว้สู้กับความท้าทายปีต่อปี เหลือไม่ถึง 1 ล้านล้าน อันนี้เป็นปัญหา เมื่อเหลือเงินจาก 30 บาท จาก 100 บาท เราจะบริหารจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

งบซื้อเครื่องจักร ใช้ได้แค่ซื้อปุ๋ย 2 กระสอบ

สำหรับ งบประมาณภาคเกษตรกรไทยส่วนใหญ่เป็นงบของอดีต ไม่ใช่งบของอนาคต งบฯ ภาคการเกษตร 79,000 ล้านบาท พบว่า 57,000 ล้านบาท เป็นการชำระหนี้ให้กับนโยบายประกันและจำนำย้อนหลังไปปี 2551 อันนี้เป็นงบไม่ตรงปก ส่วนแผนบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ เป็นการใช้หนี้ ธกส. ย้อนหลังไป 2551/2552 ถึง 27,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 84,000 ล้านบาท

เหลือเพียง 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบอุดหนุนเครื่องจักร นับเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยเกษตรกร แต่พบว่า งบฯ นี้สำหรับ 4.6 ล้านครัวเรือน หารแล้วเหลือได้ครัวเรือนละ 3,000 บาท ซื้อปุ๋ยได้เพียง 1-2 กระสอบ แล้วจะนำเงินไหนไปซื้อเครื่องจักร

ติงงบฯ Soft Power แค่ 60 ล้านบาท

ส่วนงบกระทรวงวัฒนธรรมเน้นสร้างคุณธรรมจริยธรรม อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ไม่ได้เน้นสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ งบ Soft Power มีอยู่เพียง 60 ล้านบาท และโครงการภาพยนตร์เกี่ยวกับ Soft Power มี KPI ตัวชี้วัดคนดูแค่ 50,000 คน ในขณะที่ทุกคนกำลังพูดตลอดเกี่ยวกับ Soft Power หลังจาก "มิลลิ" ไปกินข้าวเหนียวมะม่วง แต่งบฯ ไม่ตรงกับวิสัยทัศน์ที่พูด คงจะทำให้สิ่งที่เราพูดเกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ได้แน่นอน


การบริหารเศรษฐกิจไทยกับความเป็นธรรมของงบประมาณ งบประมาณ EEC ได้ถึง 11,000 ล้านบาท ซึ่งผลประโยชน์ได้กับนายทุนใหญ่ นายทุนต่างชาติ 26 นิคมอุตสาหกรรมใหญ่ ขณะที่ SME ได้ 2,7000 ล้านบาท โดยมีทั้งหมด 3 ล้านราย ตกรายละ 900 บาทเท่านั้น

แนะจัดงบฯ แห่งความหวัง ระเบิดระบบเศรษฐกิจ

นายพิธา ทิ้งท้ายสำหรับการจัดทำงบประมาณแห่งความหวังว่า จะต้องเป็นการจัดสรรงบประมาณที่กระจายโดยไม่กระจุก เป็นงบที่มาจากข้างล่างขึ้นบน และเป็นงบจากข้างนอกเข้าหาตัวเรา เช่น ปัจจุบันการแบ่งรายได้ อปท.อยู่ที่ 70 : 30 ซึ่งจะมีรายได้สุทธิ 7 แสนล้านบาท เฉลี่ย 7,850 องค์กรส่วนท้องถิ่นละ 89 ล้านบาท

หากเปลี่ยนเป็น 50 : 50 จะมีรายได้สุทธิ 1,200,000 ล้านบาท เฉลี่ยรายได้ อปท.ละ 153 ล้านบาททันที ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจะนำไปแก้ไขปัญหาหรือเสริมสร้างศักยภาพของท้องถิ่นได้ตรงจุด ทั้งการทำน้ำประปา การกำจัดขยะ หรือชลประทานย่อย ถือเป็นการระเบิดระบบเศรษฐกิจ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

วันแรก! ถกงบฯ รายจ่ายปี'66 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท

"สุทิน" ชี้มีโอกาสคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 66

พรรคร่วมรัฐบาล มั่นใจเสียงข้างมากผ่านวาระแรก งบฯ ปี 66

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง