ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทวิเคราะห์ : คว่ำงบ 66 แค่หนึ่งเรื่อง “ต่อรอง”

การเมือง
31 พ.ค. 65
19:11
149
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : คว่ำงบ 66 แค่หนึ่งเรื่อง “ต่อรอง”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

31 พฤษภาคม วันแรกของการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 25655 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท โดยมีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำทีมแถลงแจกแจงความสำคัญและรายละเอียดในร่างดังกล่าว

ท่ามกลางกระแสข่าว ฝ่ายค้านเตรียมผนึกกำลังกับกลุ่มพรรคเล็ก พร้อมโหวตคว่ำร่างนี้ ตั้งแต่วาระที่ 1 หรือวาระรับหลักการ อันเป็นผลจากการนัดหมายกินข้าวร่วมกัน ระหว่างพรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรค

กับกลุ่มพรรคเล็กที่รวมกันภายใต้ชื่อกลุ่ม 16 ที่มีนายพิเชษฐ์ สถิรชวาล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ปัจจุบันเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำ

นอกจากนี้ ยังมีปลุกกระแส จะจับมือร่วมกับพรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี ร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า เป็นแกนนำ หวังคว่ำรัฐบาลตั้งแต่วาระแรก

แต่ไปๆ มาๆ ความหวังที่ตั้งไว้สูงลิบ กลับออกอาการเป๋ กลุ่มพรรคเล็กที่เดินสายกินข้าวกับทั้ง 2 ฝ่าย เริ่มประสานเสียงไม่โหวตคว่ำรัฐบาล โดยอ้างเป็นคำพูดของ ร.อ.ธรรมมนัส ให้ยึดหลักประชาชนเป็นที่ตั้ง

ทำให้เหลือเฉพาะพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น ที่ยังคงยืนกรานต้องคว่ำงบประมาณปี 66 ให้ได้ แม้ในความเป็นจริง จะพารู้กันอยู่ว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่

เนื่องจากปัจจุบันมีเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอยู่ถึง 268 เสียง มากกว่าฝ่ายค้านที่มีเสียงส.ส.รวมกันเพียง 208 เสียง หรือมากกว่า 60 เสียง โหวตอย่างไรก็ไม่ชนะเสียงของรัฐบาลได้

เข้าทางฝ่ายรัฐบาล ตามที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ที่มั่นใจว่า ด้วยเสียงข้างมากของรัฐบาล ร่างฯ งบปี 66 จะผ่านวาระแรกอย่างแน่นอน ทั้งยืนยัน ไม่ใช่เป็นงบประมาณ “ช้างป่วย” แต่เป็น “ช้างวิ่ง” ที่จะนำพาไปสู่การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้

ช่วงสมัยประชุมสภาปี 64 ฝ่ายรัฐบาลมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมสภาไม่ครบ นำไปสู่เหตุการณ์สภาล่มอยู่บ่อยครั้ง ผลจากความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐอย่างชัดเจน ในปีก ร.อ.ธรรมมนัส

กระทั่งสุดท้ายต้องให้พรรคขับออกไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย แต่ความเหนียวแน่นของฝ่ายรัฐบาลก็ยังไม่ดีขึ้น เมื่อ ร.อ.ธรรมมนัส แสดงจุดยืนมั่นคงไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งยังคอยถล่มรัฐบาลเป็นระยะ ๆ รวมทั้งการเปิดประเด็นนายกฯคนนอก ตามมาตรา 272

ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวรวมตัวของกลุ่มพรรคเล็กในนามกลุ่ม 16 จับมือร่วมกับพรรคเพื่อไทย โดยมีเป้าหมายหลักคือ เตรียมถล่มรัฐบาล ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามมาตรา 151 ประเด็นบริษัท อีสท์วอเตอร์ ฯ

โครงการวางระบบและท่อส่งน้ำในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยวางยุทธศาสตร์ หวังดึงพรรคเศรษฐกิจไทยเข้าไปร่วม ในภารกิจสำคัญนี้ด้วย ทั้งยังมีแนวโน้มจะไปได้สวย เมื่อ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ทนแรงกดดันไม่ได้ ต้องลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย

เนื่องจากกลุ่มพรรคเล็กถูกวิพากษ์ว่า การเคลื่อนไหวผ่านการกินข้าวทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเป็นเสมือนเหยียบเรือสองแคม ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองในหลากหลายประเด็นที่เป็น “จุดอันตราย” ของรัฐบาล

นอกจากเรื่องงบประมาณ ปี 66 แล้ว ยังมีเรื่องศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านเตรียมจะยื่นปิดทางรัฐบาลไม่ให้ใช้วิธียุบสภา และร่างแก้ไข พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกส.ส.และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ล้วนเป็น “โจทย์หิน” สำหรับรัฐบาลทั้งสิ้น

จุดยืนหลักของกลุ่มพรรคเล็ก จึงขยับเปลี่ยนไปมา ล่าสุด เป็นเรื่องต่อรองสูตรในการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่กลุ่มพรรคเล็กเคลื่อนไหวมาโดยตลอด

ต้องหารด้วย 500 แทนที่จะเป็น 100 สำหรับการรับมือเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า เพื่อขยายโอกาสให้กลุ่มพรรคเล็ก ได้มีโอกาสไปต่อ ไม่ใช่เรื่องศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็น บริษัท อีสท์วอเตอร์ อีกแล้ว

การเจรจาจึงถูกมองว่า เป็นเรื่องหลายขยัก เข้าทำนองต่อรองทีละเรื่องหลายๆครั้ง เพื่อสะสมกักตุนไว้ แทนที่จะเป็นครั้งเดียวจบ ในเมื่อรู้ ๆ กันดีอยู่แล้วว่า เป็นเรื่องยากที่จะได้ไปต่อในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง