หากไม่สังเกตแทบจะไม่รู้เลยว่ารถคันนี้ เป็นรถโดยสารประจำทางของ ขสมก.มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี และถูกปลดระวางไปแล้ว แต่ตอนนี้ถูกดัดแปลงจากรถใช้เครื่องยนต์มาเป็นรถใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อนแทน ตามโครงการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วขสมก.หรือ EV BUS ครั้งแรกในไทย
นายณรงค์ ศิริเลิศวรากุล ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่า การปรับปรุงรถจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าหรือผลิตรถโดยสารไฟฟ้าใหม่มากกว่าร้อยละ 30 หรือประ มาณ 7 ล้านบาทต่อคัน ทำให้ผู้ประกอบการไทย เพิ่มขีดความสามารถในการออกแบบและผลิตรถโดยสารไฟฟ้าได้อย่างมีคุณภาพ
ทั้งนี้สวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 57 ล้านบาทในการดำเนินโครงการประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง สนับสนุนหน่วยงานละ 11 ล้านบาท รวม 33 ล้านบาท สวทช.สนับสนุน 10 ล้านบาท เพื่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า และการวิจัย รวมทั้งบริษัทเอกชนที่ผลิตรถโดยสารทั้ง 4 คัน ได้สนับสนุนงบประมาณคันละ 3.5 ล้านบาท รวมเป็น 14 ล้านบาท
เล็งเดินรถในเส้นทางจริง
ขณะที่นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผอ.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บอกว่า ได้ทดสอบระบบรถมาแล้ว 3 เดือนในเขตการเดินรถที่ 1 หลังจากนี้จะนำรถต้นแบบส่งมอบให้ ขสมก.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง
หลังจากที่รับมอบรถเมล์ไฟฟ้าแล้ว ขสมก.จะนำไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก จากนั้นจะนำมาวิ่งให้บริการในเส้นทางเดินรถของ ขสมก. ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำแผนว่าจะนำไปให้บริการในเส้นทางไหน โดยจะคลอบคุลมทั้งเส้นทางในเมืองและนอกเมือง
สำหรับรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับมอบนี้ตามโครงการวิจัยจะสามารถใช้งานได้ 5-10 ปี ส่วนแผนการจัดหารถเมล์ใหม่ 224 คัน อยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม คาดว่าในปลายปีนี้ทีโออาร์จะมีความชัดเจน และจะไม่เร่งจัดหารถใหม่ หากไม่มีความพร้อม