วันนี้ (2 มิ.ย.2565) พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม โดยยืนยันยึดแนวทางตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิบัติการของกระทรวงที่ต้องเตรียมพร้อมกำลังพล ในการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะในห้วงการแพร่ระบาดโควิด-19 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ สั่งการบูรณาการ กระทรวงหน่วยงานภาคเอกชน ป้องกันการแพร่ระบาด
สำหรับการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหมนับแต่ปี 2563 จนถึงปี 2566 ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี และปรับลดลงเกือบทุกรายการของแผนงาน ส่วนแนวทางการเตรียมกำลังด้านยุทโธปกรณ์ เตรียมเท่าที่จำเป็น ทุกเหล่าทัพตระหนักถึงศักยภาพทางการเงินการคลังของประเทศและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ก็ยังคงสร้างความพร้อมให้กับกองทัพเพื่อรองรับกับสถานการณ์ตามอำนาจหน้าที่ โดยเน้นซ่อมปรับปรุงยืดอายุการใช้งาน หาใหม่เท่าที่จำเป็น พร้อมกับให้ความสำคัญในการวิจัยพัฒนายุทโธปกรณ์
รมช.กลาโหม ชี้แจงความต้องการเครื่องบินขับไล่ ซึ่งมีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อคัดเลือกแบบเพื่อให้ตรงกับความต้องการในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพ โดยเหตุผลในการจัดหาเพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่โจมตีที่ใช้มานานบางเครื่อง 41 ปี ที่จะมีเครื่องที่ปลดประจำการไปเรื่อย ๆ จนถึงปี 2574 และแบบมีการคัดเลือกใกล้เคียงกับที่แบบกองทัพใช้อยู่ในปัจจุบัน
ส่วนโครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับของกองทัพเรือ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง ยึดกรอบกฎหมาย ผลประโยชน์ของกองทัพและของชาติเป็นสำคัญ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยกำหนดคุณสมบัติเป็นการเฉพาะตามความต้องการทางยุทธการ การลาดตระเวนน่านน้ำ คัดเลือกใช้เกณฑ์ราคาและเทคนิคเป็นคะแนน พร้อมชี้แจงว่า แบบที่กองทัพอากาศจัดหาเป็นคนละรุ่นกับแบบที่มีข่าวว่าตกที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
กรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำ ยืนยันว่า เป็นการดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ และเป็นไปตามกฏหมาย ส่วนกรณีที่ประเทศจีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ที่กำหนดไว้ในสัญญา กองทัพเรือไม่ได้นิ่งนอนใจได้ประสานและเชิญผู้แทนบริษัท ผู้ผลิตร่วมหาทางออก โดยจะต้องดำเนินไปตามสัญญาและข้อตกลง ในเดือน มิ.ย.นี้ ยืนยันกองทัพเรือจะยึดถือผลประโยชน์ตามกฎหมายผลประโยชน์ของกองทัพและผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
ส่วนกรณีที่สมาชิกตั้งคำถามว่าในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เหตุใดกองทัพเรือถึงเข้าไปดำเนินการด้วยนั้น พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจงว่าในการพัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติ คณะกองทัพเรือเป็นผู้ดูแลความปลอดภัยและป้องกันภัยสนามบิน
สำหรับกรณีเงินนอกงบประมาณของกระทรวงกลาโหม หลัก ๆ จะเป็นเงินรายรับของสถานพยาบาล ซึ่งจะมีระเบียบวิธีการและการรายงานการใช้จ่ายสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้ใช้เงินเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และมีแนวทางการปรับลดกำลังพลโดยมีแผนแม่บทการปฏิรูปกองทัพปี 2560 - 2569 ในช่วง 10 ปี ร้อยละ 5 หรือ 12,000 คน โดยจะลดงบประมาณได้ 2,100 ล้านบาท อาจจะใช้ระยะเวลาเนื่องจากกำลังพลไม่สามารถที่จะปลดได้ วิธีดำเนินการคือการเกษียณ และบรรจุทดแทนน้อยลง
พร้อมกันนี้ได้ชี้แจงเรื่องของการเตรียมพัฒนาศักยภาพและเตรียมกำลังของกองทัพเพื่อรองรับสถานการณ์ ความมั่นคง ยืนยันว่า ไม่ได้เตรียมกำลังเพื่อไปรบกับใคร แต่เป็นการป้องกันตนเอง ก่อนจะยืนยันว่ากระทรวงกลาโหมจะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าโดยคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นหลัก