วันนี้ (3 มิ.ย.2565) นายภูษิต พรหมมาณพ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ ได้ดำเนินการขยายเขตอุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูแลนคาด้านทิศเหนือ และป่าสงวนแห่งชาติป่าภูแลนคาต้านทิศใต้ (มอหินขาว) ท้องที่ต.ซับสีทอง และต.ท่าหินโงม อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ และป่าสงวนแห่งชาติป่าภูแลนคาด้านทิศเหนือ (ป่าปรงพันปี) ท้องที่ต.ซับสีทอง อ.เมืองชัยภูมิ และต.บ้านหัน อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 5,363 ไร่
โดยในการกำหนดให้พื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายอุทยานแห่งชาติ หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส. ได้กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ในชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ จึงประกาศเชิญชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน รวมทั้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในการขยายอุทยานแห่งชาติภูแลนคา
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุืพืช
ทั้งนี้ได้กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ โดยสามารถนำส่งด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ อุทยานแห่งชาติภูแลนคา และรับฟังความคิดเห็น ณ หอประชุมภูแลนคา ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูแลนคา ต.ท้วยต้อน อ.เมืองชัยภูมิ หรือกรอกแบบฟอร์มทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้ที่ https://docs.google.com/forms
พบมีทรัพยากรหายาก-โดดเด่นทางธรณีวิทยา
สำหรับเหตุผลในการขยายพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคาเพิ่มเติม เนื่องจากมีทรัพยากรที่มีลักษณะพิเศษและโดดเด่น เช่น ทางด้านทิศเหนือพื้นที่ 1,861 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาที่มีรูปร่างแบบเขาอีโต้ หรือเควสต้า โดยบริเวณปลายด้านหนึ่งจะชันเป็นหน้าผา มีลักษณะเด่น เช่น เป็นจุดชมวิวผาหัวนาค และสวนหินล้านปี อยู่ที่ระดับความสูง 800-920 เมตรจากระดับน้ำทะเล และอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุืพืช
ส่วนอีกจุดป่าสงวนแห่งชาติป่าภูแลนคาด้านทิศใต้เหนือ (ป่าปรงพันปี) เนื้อที่ 3,775 ไร่ มีภูมิประเทศเป็นขอบที่ราบสูงโคราช มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ป่าปรงพันปี จุดชมวิวผาชมจันทร์ จุดชมวิวผาชาลี จุดชมวิวผาธงแดง และยอดเขาภูคลี ซึ่งมีความสูง 740-1,038 เมตรจากระดับน้ำทะเล อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และ 1 บี มีความโดดเด่นคือปรงชัยภูมิ หรือปรงเท้าช้าง และข้าวตอกภูแลนคา พืชชนิดใหม่ของโลกที่สำนรวจโดยสำนักหอพรรณไม้ กรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่พบเพียงจ.ชัยภูมิ ดังนั้นจึงต้องอนุรักษ์ รวมทั้งมีการศึกษาทางด้านธรณีวิทยา การวิจัย รวมทั้งบางส่วนเพื่อการท่องเที่ยว