เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2565 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านกว่า 340 องค์กร อาทิ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก บริษัท กล้าก้าว อินสไปเรชั่น จำกัด ศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุมชนท้องถิ่น เครือข่ายอ่านยกกำลังสุข ศูนย์ประสานงานส่งเสริมการอ่านชายแดนใต้ เครือข่ายพลังอ่านชายแดนใต้ เครือข่ายเด็กเท่ากัน เครือข่ายรัฐสวัสดิการ จัดเวทีพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย “สานพลังร่วมหยุดวิกฤติ Learning Loss จากปฏิบัติการทางสังคมสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย” มุ่งเป้าสนับสนุนให้เกิดสวัสดิการหนังสือในเด็กปฐมวัย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.มุ่งทำงานภายใต้แนวคิด “ลงทุนน้อย แต่ได้ผลเยอะ” การสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในเด็กปฐมวัย ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าได้ผลลัพธ์มหาศาล ในการนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย ผลักดันขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย ทาง กทม. พร้อมรับนโยบายมาส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านนโยบาย 3 ข้อ
1. ส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครองมีหนังสือในบ้าน เพื่อเป็นรากฐานสำคัญให้เด็กอายุ 0-8 ปี ที่มีพัฒนาการเร็ว มีนิสัยรักการอ่าน
2. ส่งเสริมให้ผู้ปกครอง พ่อ-แม่ มีเวลาอ่านหนังสือให้เด็กฟัง โดยฝึกให้พ่อ-แม่มีบทบาทในการฝึกลูกเรื่องการอ่านมากขึ้น
3. จัดทรัพยากรหนังสือเพื่อเด็ก อาทิ โครงการหนังสือ 100 เล่ม แนะนำให้เด็กอ่าน จัดตั้งศูนย์กลางห้องสมุด 36 แห่ง พัฒนาบ้านหนังสือในชุมชน 117 แห่ง ช่วยคนรายได้น้อย เข้าถึงหนังสือ 3-5 เล่มต่อ 1 บ้าน ใช้เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนหมุนเวียนหนังสือ พร้อมมีจิตอาสาหมุนเวียนมาอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ถือเป็นการที่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลเยอะ สร้างเด็กปฐมวัยมีคุณภาพ ได้รับการพัฒนาการที่ดี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความก้าวหน้าในชีวิตและสังคมไทย
กทม.ขอรับนโยบาย สสส. และภาคีเครือข่ายในการผลักดันให้เด็กทุกคน เข้าถึงสวัสดิการหนังสือเด็กปฐมวัย โดย กทม. จะขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพราะการอ่านหนังสือ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า คือ ลงทุนน้อยแต่ได้เยอะ
แนะ 7 วิธีสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูก
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การอ่านมีผลต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย เด็กสามารถเรียนรู้จากการฟังและดูจากพ่อแม่เล่าหรืออ่าน นอกจากทำให้เกิดความผูกพันระหว่างคนในครอบครัว หนังสือยังทำให้เด็กเกิดจินตนาการ ทักษะพื้นฐานของการรู้จักคิด เรียนรู้ เมื่อเข้าสู่วัยเรียนจะมีผลเชิงบวก ทั้งด้านภาษา คำนวณ ทำให้มีแนวโน้มทางการเรียนที่ดี ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างความร่วมมือเพื่อผลักดันให้เกิดโอกาสการเข้าถึงสวัสดิการหนังสือที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย จัดตั้งมุมหนังสือสำหรับเด็ก และจัดหาหนังสือที่เหมาะสมกับวัยในสถานที่ต่างๆ รวมถึงห้องสมุดเคลื่อนที่ ให้บริการยืมและแลกเปลี่ยนหนังสือ เพื่อให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน
ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่ สร้างนิสัยรักการอ่านให้กับลูก 7 ข้อ
1. อ่านหนังสือหรือเล่านิทาน โดยแนะนำให้ลูกรู้จักตัวละครในหนังสือ พร้อมตอบคำถาม
2. พาลูกไปเลือกซื้อหนังสือที่สนใจ
3. ทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน เช่น จัดชมรมนักอ่าน จัดห้องสมุดโรงเรียน เป็นวิทยากรอ่านหนังสือให้เด็กฟัง
4. ชวนลูกทำอาหารจากหนังสือหรือตำราอาหารเด็ก
5. ให้ลูกฝึกค้นหาคำตอบจากหนังสือสารานุกรมเด็ก
6. อ่านหนังสือทุกวัน เลือกที่เหมาะสมตามวัย มีภาพประกอบมีสีสันสวยงาม มีเนื้อหาเข้าใจง่าย และภาษาไพเราะ
7. ให้หนังสือเป็นของขวัญสำหรับลูกในวันสำคัญต่าง ๆ
เด็กเล็กไม่มีหนังสือในบ้าน 1.1 ล้านครัวเรือน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มีนโยบาย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างน้อย 1 แห่ง ต้องมีห้องสมุดศูนย์กลาง จึงได้ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.ริเริ่มโครงการ “ท้องถิ่นรักษ์การอ่าน” ปรับศาลากลางบ้าน วัด ส่วนของพื้นที่ราชการท้องถิ่น หรือบ้านของจิตอาสา เป็นพื้นที่อ่านหนังสือ แบ่งปันหนังสือของคนในชุมชน จำนวน 9,102 แห่ง พร้อมผลักดันนโยบายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรในท้องถิ่น ให้มีมุมอ่านหนังสือ มีกิจกรรมเล่านิทาน สนับสนุนให้ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ลูกฟังอย่างน้อย 5-10 นาทีต่อวัน ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมการเรียนรู้วงกว้างในระยะเวลาที่รวดเร็ว
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 เด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถไปโรงเรียนเพื่อเรียนรู้ทักษะทางสังคมได้เต็มที่ ประกอบกับข้อมูลการเข้าถึงหนังสือ โดยสำนักสถิติแห่งชาติ พบเด็กเล็กไม่มีหนังสือในบ้านกว่า 1.1 ล้านครัวเรือน เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ สะท้อนแนวโน้มที่อาจเพิ่มขึ้นของภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็ก
สสส.เร่งสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย พัฒนาแนวทางการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านตั้งแต่เด็กปฐมวัย อายุ 0-6 ปี ริเริ่มโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ชวนกันอ่านสร้างสุข โครงการคัดสรร 108 หนังสือดี เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาเด็กปฐมวัย โครงการนครแห่งการอ่าน โครงการอ่านยาใจ : สร้างภูมิคุ้มใจเด็กปฐมวัย มุ่งขยายผลขับเคลื่อนงานสุขภาวะทางปัญญา สร้างครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง ร่วมแก้วิกฤติพัฒนาการภาษาล่าช้า ลดภาวะถดถอยการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย