วันนี้ (8 มิ.ย.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก Axolotl Ville TH ออกมาเตือนเรื่องการย้อมสี "หมาน้ำ" หรืออาโซลอต (axolotl) ซึ่งเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในอันดับซาลาแมนเดอร์ชนิดหนึ่งจากประเทศเม็กซิโก หลังได้รับความนิยมเป็นสัตว์เลี้ยงในไทย ล่าสุด พบมีกลุ่มผู้ขายที่นำหมาน้ำไปย้อมสี มีทั้งสีชมพู สีเขียว สีเหลือง สีม่วง ทำให้มีการเตือนจากกลุ่มผู้ประกอบการที่เพาะเลี้ยงว่า ไม่สนับสนุนการจับหมาน้ำไปใส่สีแบบนั้น
ทั้งนี้ทางเพจระบุว่า โปรดระวังการรับเลี้ยงเด็กที่สีผิดแปลกไปจากธรรมชาติ สีตามภาพมีการนำเข้ามาจำหน่ายในไทยจริง โปรดใช้วิจารณญาณและศึกษาในการเลือกรับเลี้ยง สีตามธรรมชาติจะไม่มีสีสันฉูดฉาด และหลากสีแบบนี้
เด็กๆที่สนใจน้องๆ หรือรู้จักน้องๆผ่านทางเกมโปรดศึกษาก่อนไปรับมาเลี้ยงโดยปกติที่ผ่านการย้อมสีจะมีอายุขัยได้ไม่นานไม่เกิน 1 สัปดาห์โดยประมาณ จึงไม่สนับสนุนให้ซื้อ และไม่สนับสนุนสิ่งผิดรวมทั้งไม่ซื้อ เท่ากับเพิ่มโอกาสรอดให้ตัวอื่นที่ยังไม่ถูกแช่
เช่นเดียวกับเพจ หมอแล็บแพนด้า ออกมาโพสต์เตือนเช่นกันว่า “หมาน้ำ” เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในตระกูลซาลาแมนเดอร์ ตัวที่ถูกเอาไปย้อมสีจะมีอายุสั้นแค่ 1 สัปดาห์ก็ตาย สงสารมัน อย่าไปซื้อแบบย้อมสี
ภาพ : เฟซบุ๊ก Axolotl Ville TH
อย่าสนับสนุนหมาน้ำย้อมสี-วงจรชีวิตสั้นแค่ 1 สัปดาห์
ขณะที่ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามไปยังผู้ประกอบการแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี ยอมรับว่าตกใจที่เห็นมีกลุ่มผู้ขายหมาน้ำ นำไปย้อมสี ซึ่งทราบว่ามีการขายกันที่ตลาดนัดจตุจักร แต่อยากฝากเตือนว่าไม่ให้สนับสนุนการกระทำแบบนี้เพราะปกติหมาน้ำ เป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหวต่อระบบสิ่งแวดล้อมและน้ำต้องสะอาดมาก
การที่นำไปย้อมสีจะเป็นตัวเร่งให้หมาน้ำตายเร็วขึ้น และตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าสีที่นำมาใช้เป็นสีอะไร แต่โดยหลักการก็ไม่ควรนำมาใช้เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงที่เด็กๆนำไปเลี้ยงอาจเกิดอันตรายได้
สำหรับหมาน้ำ หรืออาโซลอต เป็นสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอีก 1 ชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมืองในประเทศเม็กซิโก การปล่อยมลพิษทางน้ำ การล่าเพื่อบริโภคของคนพื้นเมือง หรือการล่าเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใด รวมทั้งยังมีการล่าหรือจับเพื่อนำไปวิจัยในทางการแพทย์
ทำให้มีการขึ้นบัญชี อาโซลอต เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่อยู่ในอนุสัญญา CITES ในชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 2 ที่ว่าด้วยชนิดพันธุ์ของสัตวป่าและพืชป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์จึงยังอนุญาตให้ทำการค้าได้แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือมีการลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์โดยประเทศที่จะส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นๆในธรรมชาติเด็ดขาด