เมื่อวันที่ (7 มิ.ย. 65) ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน 2565 โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขตดุสิต ซึ่งในที่ประชุมได้มีการสรุปภาพรวมการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน 2565 และการติดตามผลการดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในระดับพื้นที่
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รายงานการถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนของกรุงเทพมหานคร ดังนี้ กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยมาตั้งแต่เดือน ก.พ. โดยสำนักการระบายน้ำร่วมกับสำนักงานเขตและสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงตรวจสอบอุโมงค์ระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ บ่อสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีความพร้อมในการใช้อยู่เสมอ รวมถึงมีการเตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำและแผนสำรองไว้ด้วยกรณีมีเหตุฉุกเฉิน
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้ว 2,065 กม. จากทั้งหมด 3,027 กม. อีกทั้งมีการประสานงานการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่นทั้งภายในและหน่วยงานภายนอกเพื่อบูรณาการความร่วมมือกรณีที่ต้องมีการปรับแผนรองรับการเผชิญเหตุไว้ด้วย
ส่วนระยะที่ 2 มีการเตรียมการตั้งแต่ภาวะปกติจนถึงขั้นตอนการเตือนภัยให้ประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้เร่งรัดการตรวจสอบคูคลองสายหลักและสายย่อยเพื่อให้สามารถรองรับน้ำและส่งน้ำไหลไปตามสายต่าง ๆ จากสายย่อยสู่สายหลักได้เร็วที่สุด มีการแจ้งเตือนภัยประชาชนเป็นระยะ ๆ โดยศูนย์ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครมีการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่อเนื่องตลอดเวลา อีกทั้งมีการคาดการณ์ความเสี่ยงล่วงหน้าเพื่อให้หน่วยเคลื่อนที่เร็วสามารถออกไปประจำจุดต่างๆ เตรียมพร้อมคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งกรณีฝนตกไม่เกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง กรุงเทพมหานครมีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้ ไม่ทำให้เกิดปัญหารุนแรง
แต่หากกรณีมีฝนตก 60-90 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป ตลอดจนมีน้ำเหนือหลาก หรือน้ำทะเลหนุนร่วม ซึ่งเป็นปัญหาหลักของกรุงเทพมหานคร ได้มีการเตรียมแผนและหน่วยเคลื่อนที่พร้อมปฏิบัติงานดูแลประชาชนและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพร้อมทั้งมีการแจ้งเตือนภัยรวมถึงข้อการปฏิบัติตนให้ประชาชนทราบเป็นระยะ กรณีเกิดเหตุรุนแรงขึ้นจะมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่และฟื้นฟูพื้นที่ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติกำหนดไว้
สำหรับระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย อยู่ในช่วงเดือน พ.ย.-ม.ค. เป็นช่วงที่สามารถตรวจสอบและถอดบทเรียนหลังเกิดเหตุ กรุงเทพมหานครจะดำเนินการถอดบทเรียนและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ครั้งต่อไป
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมทุกด้านสำหรับการรับมือสถานการณ์อุทกภัยช่วงฤดูฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ไว้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำได้หากไม่มีฝนตกหนักต่อเนื่องเกินศักยภาพการระบายน้ำหรือมีน้ำทะเลหนุนและน้ำเหนือร่วมด้วย แต่หากเกิดกรณีฉุกเฉินกรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ไว้แล้วเพื่อคลี่คลายความเดือดร้อนให้ประชาชนให้ได้เร็วที่สุด