ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ต้องรู้! "สับปะรดสีชมพู GMO" ปลูก-ขาย-ครอบครองผิดกฎหมาย

Logo Thai PBS
ต้องรู้! "สับปะรดสีชมพู GMO" ปลูก-ขาย-ครอบครองผิดกฎหมาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมวิชาการเกษตร ชี้ "สับปะรดสีชมพู" พืชจีเอ็มโอ ผิดกฎหมายพบลอบขายในออนไลน์ พบเห็นแจ้งเบาะแสโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ด้านสภาองค์กรผู้บริโภค กังวลปนเปื้อนแปลงปลูกสับปะรดแหล่งใหญ่ เร่ง 2 หน่วยงานล้อมคอก

กรณีมีข้อมูลในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องขายสับปะรดสีชมพูในไทย ผิดกฎหมาย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง 

วันนี้ (9 มิ.ย.2565) ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุถึงกรณีที่มีการระบุว่ามีการพบสับปะรดเนื้อสีชมพู ซึ่งเป็นพืชตัดต่อพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ (GMO) ที่เป็นการทดลองของบริษัท Del Monte ได้ปลูกในประเทศคอสตาริกา และเป็นพืชจีเอ็มโอ โดยได้ให้กรมวิชาการเกษตรตรวจเข้มทุกพื้นที่ เพราะประเทศไทยมีนโยบายปลอดพืชจีเอ็มโอ ไม่มีการอนุญาตนำเข้าแต่อย่างใด จึงเตือนประชาชนว่าอย่านำเข้าพืชดังกล่าวหรือสนับสนุนในการซื้อขาย  

นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด เพราะได้มีการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และจะยิ่งเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กันและกัน เพราะลำพังภาครัฐก็จำกัดด้วยกำลังคน โดยเฉพาะยุคที่การซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ที่มีการส่งสินค้ากันมาก ทำให้สุ่มเสี่ยงกับการส่งของผิดกกฎหมาย ดังนั้นฝากประชาชนว่าใครพบเห็นให้รีบแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ทันที

ฝากเตือนผู้ลักลอบนำเข้าว่า หากพบจะมีโทษตามกฎหมายตามพ.ร.บ.กักพืชพ.ศ.2507 ที่ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนั้น กรณีกรมวิชาการเกษตรตรวจพบว่ามีการลักลอบซื้อ-ขาย หรือปลูก สามารถยึด อายัดและทำลายได้ทันที โดยผู้ซื้อ-ผู้ขาย เรียกร้องค่าเสียหายจากใครไม่ได้ ดังนั้นมีแต่เสียด้านเดียว จึงขอวอนพี่น้องประชาชนว่าอย่าสนับสนุนพืชดังกล่าว ซึ่งกรมวิชาการเกษตร จะมีการจัดทำโปสเตอร์แสดงชนิดพืชสับปะรดสีชมพู เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยพี่น้องประชาชนให้ได้ช่วยตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย

 

รู้จักสับปะรดสีชมพู พืช GMO 

ข้อมูลจากสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยน.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ อนุกรรมการด้านอาหารยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้บริโภคว่าพบการเผยแพร่โฆษณาจำหน่ายสับปะรดที่มีเนื้อสีชมพู บนสื่อสังคมออนไลน์ โดยผลไม้ดังกล่าวเป็นผลไม้ที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม หรือที่เรียกว่าผลไม้จีเอ็มโอ (GMOs) ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศไทย

สภาองค์กรของผู้บริโภค เร่งรัดไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของสับปะรดจีเอ็มโอในประเทศไทย เร่งออกประกาศเรื่องผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ รวมถึงฉลากจีเอ็มโอ และร่วมกันเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอบนสื่อสังคมออนไลน์ ก่อนที่พืชผักผลไม้จีเอ็นโอจะปนเปื้อนพืชท้องถิ่นสร้างปัญหาการปนเปื้อน การส่งออก และผลกระทบต่อผู้บริโภค

ภาพ:สภาองค์กรของผู้บริโภค

ภาพ:สภาองค์กรของผู้บริโภค

ภาพ:สภาองค์กรของผู้บริโภค

พบมีการแอบขายในช่องทางออนไลน์ 9 เดือน

ด้าน น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการฯ กล่าวว่า ได้มีการร้องเรียนหน่วยงานภาครัฐจากการพบการนำเข้าสับปะรดสีชมพูกว่า 9 เดือนที่แล้ว แต่ยังมีการทะลักเข้ามาของผลไม้ชนิดนี้อย่างไม่ขาดสาย สับปะรดดังกล่าวใช้ชื่อการค้าว่า Pinkglow® pineapple ซึ่งเป็นของบริษัท DEL MONTE ประเทศคอสตาริกา โดยพัฒนาพันธุ์สับปะรดให้มีเนื้อสีชมพูด้วยกระบวนการดัดแปรพันธุกรรม ที่มีการประกาศขายออนไลน์ในประเทศไทย

สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงได้ทำหนังสือสอบถามเกี่ยวกับประเด็นการควบคุมและกำกับดูแลไปยัง 2 หน่วยงาน คือ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.25564 โดยได้รับหนังสือตอบจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เมื่อ 4 พ.ย. 2564 ว่า การนำเข้าสับปะรดสีชมพูที่มีการดัดแปรพันธุกรรม เพื่อจำหน่ายในประเทศอยู่ภายใต้การควบคุมตามพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ซึ่งกำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

อย.ตอบกลับเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2564 ว่าการกำกับดูแลการนำเข้าสับปะรดที่มีการดัดแปรพันธุกรรม อยู่ภายใต้ประกาศตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2553 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

น.ส.มลฤดี กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงสาธารณสุขอีก 2 ครั้ง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีก 3 จึงได้รับคำตอบว่า กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการออกประกาศว่าด้วยอาหารจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม และประกาศฉลากจีเอ็มโอ

ในขณะที่คำตอบจาก มกอช.กลับระบุว่า สับปะรดจีเอ็มสีชมพูเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ในการตรวจค้นได้ เนื่องจากมีความเสี่ยงจำเป็นต้องมีหมายค้น สิ่งที่ทำได้ คือ การประสานด่านศุลกากร ด่านตรวจพืช ด่านอาหารและยา เข้มงวดการตรวจสอบ ประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้นำโฆษณาออกจากสื่อ และทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลการนำเข้าสับปะรดกับกฎหมายกักพืช

9 เดือนแล้วที่สภาองค์กรของผู้บริโภคทำหนังสือไปถึงทั้ง 2 หน่วยงาน แต่ยังพบว่ามีการขายและรีวิวขายในไทย สะท้อนให้เห็นถึงความล่าช้าในจัดการปัญหาของหน่วยงานรัฐ ส่งผลต่อระบบการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้อาจเกิดความเสี่ยงจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ 

รศ.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การหลุดรอดของสับปะรดจีเอ็มจากการลักลอบส่งออกจากประเทศคอสตาริก้าแล้วลักลอบนำเข้าประเทศไทยนำเข้ามาในรูปหน่อพันธุ์ หลังจากการประชาสัมพันธ์คุณสมบัติของสับปะรดพันธุ์ดังกล่าวว่ามีกลิ่น และรสดีกว่าสับปะรดแบบดั้งเดิม

แม้มีเกษตรกรบางส่วนที่ซื้อหน่อพันธุ์ไปทดลองปลูกแล้วต่อมาทราบว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จึงได้ทำลายทิ้งไป แต่อาจมีเกษตรกรบาง ส่วนที่ซื้อหน่อพันธุ์ไปปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม และมีข่าวว่านักผสมพันธุ์ต้นไม้ระดับอาจารย์ได้นำไปผสมพันธุ์กับสับปะรดปกติจนได้ลูกผสมก่อนทำลายสับปะรดจีเอ็มโอทิ้ง

ภาพ:สภาองค์กรของผู้บริโภค

ภาพ:สภาองค์กรของผู้บริโภค

ภาพ:สภาองค์กรของผู้บริโภค

ห่วงปนเปื้อนพื้นที่ปลูกสับปะรด 148,198 ไร่

ส่วนนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า หากปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้าและปลูกในวงกว้าง ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบกับการส่งออกของอุตสาหกรรมผลไม้ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศ และเพิ่มภาระต้นทุนการตรวจสอบของภาคเอกชน จากบทเรียนปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของมะละกอจีเอ็มโอเมื่อปี 2556 ที่ทำให้การส่งออกลดลง 4–5 เท่า เนื่องจากประเทศคู่ค้า เช่น สหภาพยุโรปไม่ยอมรับ

เฉพาะจ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ที่ปลูกสับปะรดมากสุดถึง 148,198 ไร่ หรือ 34.95% และยังเป็นพื้นที่ที่มีการแปรรูปสับปะรดกระป๋อง จึงอยากให้รีบจัดการกับการนำเข้าสับปะรดจีเอ็มโอ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรที่ปลูกสับปะรดกว่า 50,000 ครอบครัว รวมถึงอุตสาหกรรมสับปะรดทั้งระบบ

ข้อเสนอ 4 ข้อล้อมคอกพืชจีเอ็มโอ 

1.ขอให้กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของสับปะรดดัดแปรพันธุกรรมในประเทศ เนื่องจากการควบคุมการปลูกและจำหน่ายสับปะรดจีเอ็มโอสีชมพูในไทย เป็นสิ่งต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 โดยกรมวิชาการเกษตรมีอำนาจในการตรวจค้น ยึด อายัด ทำลาย และสั่งไม่ให้นำเข้า ดังนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย หากจำเป็นต้องมีหมายค้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ ก็ควรเร่งดำเนินการเพื่อออกหมายค้น

2.ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งออกประกาศว่าด้วยอาหารจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม และประกาศฉลากจีเอ็มโอ ตามที่องค์กรของผู้บริโภคเคยทำข้อเสนอ โดยต้องมีสัญลักษณ์ฉลากจีเอ็มโอที่ชัดเจน และครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์

3.ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร และ อย. สร้างกระบวนการเฝ้าระวังและติดตามการโฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์

4.เสนอให้รัฐนำพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ ฉบับประชาชน ที่เคยเข้าสภาผู้แทนราษฎรก่อนรัฐประหาร มาพิจารณาเป็นกฎหมายและบังคับใช้โดยเร็ว เพื่ออุดช่องว่างปัญหาการลักลอบนำเข้าผลไม้จีเอ็มโอ

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคจะทำหนังสือติดตามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562

ข่าวที่เกี่ยวข้อง