จากกรณีชายอายุ 31 ปี ระบุว่าได้รับผลกระทบภายหลังผ่าตัดกระดูกไขสันหลังกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านบางแค ทำให้ไม่สามารถขยับร่างกายได้ตามปกติ ซึ่งต่อมาแพทย์ได้ลงความเห็นให้ "เป็นผู้พิการ" อีกทั้งโรงพยาบาลไม่ได้แสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด
วันนี้ (12 มิ.ย.2565) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สบส. ได้ประสานรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบในเบื้องต้นแล้ว และมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย สบส. ลงพื้นตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวในช่วงบ่ายวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จะบันทึกถ้อยคำจากบุคลากรของสถานพยาบาล และรวบรวมเอกสารทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมุ่งเน้นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.สถานพยาบาล ทั้งมาตรฐานของแพทย์ผู้ให้บริการ และมาตรฐานการรักษา พร้อมกับส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานวิชาชีพของแพทย์ให้แพทยสภา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบ และสถานพยาบาลต่อไป
ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า หากแพทยสภามีผลการวินิจฉัยว่า ความพิการที่เกิดกับผู้เสียหายมาจากการรักษาของแพทย์ผู้ให้บริการ สบส.จะต้องเอาผิดกับผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ตามที่ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนด ในมาตรา 34 (2) ฐานที่ผู้ดำเนินการไม่ควบคุม ดูแลให้แพทย์ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแม้เทคโนโลยีทางการแพทย์จะมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมากแล้ว แต่การให้บริการทางการแพทย์ทุกประเภทก็จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และรอบคอบ เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดคิด ซึ่งในบางครั้งผลกระทบนั้นไม่ได้เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกาย ของผู้รับบริการ แต่อาจจะรุนแรงถึงขั้นเกิดความพิการ หรือเกิดการเสียชีวิตได้ จึงฝากถึงผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ให้กวดขันมาตรฐานของสถานพยาบาล ให้ครบถ้วนในทุก ๆ ด้าน
ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับผลกระทบจากบริการของสถานพยาบาลเอกชน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน สบส. 1426 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบ ดูแลและให้ความเป็นธรรมกับผู้รับผลกระทบทันที