ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หมอเตือนเคสกิน "คุกกี้กัญชา" เสียชีวิตได้-จดแจ้งปลูก 7 แสน

สังคม
13 มิ.ย. 65
11:00
22,023
Logo Thai PBS
หมอเตือนเคสกิน "คุกกี้กัญชา" เสียชีวิตได้-จดแจ้งปลูก 7 แสน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"หมอธีระ" โพสต์เตือนพบเคสกินคุกกี้ผสมกัญชาในสหรัฐอเมริกา พบมีสาร THC มากเกินจนส่งผลผู้ที่บริโภคมีภาวะผิดปกติและเสียชีวิต ขณะที่ในไทยโซเชียลเริ่มพบเคสคุกกี้ผสมกัญชาต้องส่งโรงพยาบาลแล้ว ส่วนยอดจดแจ้งแอปกัญ ทะลุ 713,544 ใบ

วันนี้ (13 มิ.ย.2565) หลังจากประเทศไทยปลดล็อกพืชกัญชาออกจากยาเสพติด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รายงานสถิติการเข้าใช้งานแอป ปลูกกัญว่า ตั้งแต่วันที่ 9-13 มิ.ย.ที่ผ่านมา จำนวนการลงทะเบียน 735,932 คนออกใบรับจดแจ้งกัญชา 713,544 ใบ ออกใบรับจดแจ้งกัญชง 22,388 ใบ จำนวนเข้าใช้งานระบบ35,7511,572 ครั้ง (ข้อมูลวันที่ 13 มิ.ย. เวลา 07.00 น.)

"หมอธีระ" เตือนเคสตัวอย่างกินคุกกี้กัญชาตาย

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงานการเสียชีวิตจากการกินคุกกี้กัญชาว่า วารสารทางการแพทย์และสาธารณสุข MMWR ฉบับวันที่ 24 ก.ค.2556 ได้รายงานกรณีศึกษาผู้เสียชีวิตในสหรัฐอเมริกา หลังจากกินคุกกี้กัญชา

เหตุเกิดเมื่อ มี.ค.2555 ฝ่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ของรัฐโคโลราโด ได้รับรายงานว่ามีผู้ชายอายุ 19 ปี ที่เสียชีวิตหลังจากกินผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม จึงไปทำการสอบสวนภาวะ ทบทวนผลการชันสูตรศพ และรายงานของตำรวจ

เรื่องราวที่เกิดขึ้นคือ ผู้เสียชีวิตคนนี้ได้รับคุกกี้กัญชาจากเพื่อนหลังจากกินไปเพียง 1 ชิ้น เวลาผ่านไป 30-60 นาทีต่อมาก็ไม่ได้รู้สึกอะไร จึงได้กินเพิ่ม หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง พบว่ามีอาการพูดจาตะกุกตะกักผิดๆ ถูกๆ และมีอาการและพฤติกรรมดุร้ายขึ้น

เมื่อเวลาผ่านไป 3 ชั่วโมงครึ่ง หลังกินคุกกี้ชิ้นแรก และหลังกินเพิ่มไป 2 ชั่วโมงครึ่ง ผู้เสียชีวิตก็ได้กระโดดจากระเบียงชั้น 4 ของอาคาร และเสียชีวิต ผลชันสูตรศพหลังเสียชีวิตไป 29 ชั่วโมง พบว่ามีปริมาณกัญชาเกินขนาดและน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่ภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การเสียชีวิต

 

ผลการวิเคราะห์สารเสพติดจากเลือดที่คั่งในช่องอก ตรวจพบสารประเภท cannabinoids ได้แก่ สาร delta-9 tetrahydrocannabinol [THC] 7.2 ng/mL และสาร delta-9 carboxy-THC 49 ng/mL ทั้งนี้ ปริมาณข้างต้นถือว่าสูง เพราะโดยที่ตามกฎหมายของรัฐโคโลราโดนั้น ปริมาณของ delta-9 THC ในเลือดต้องไม่เกิน 5.0 ng/mL สำหรับการขับขี่ยานพาหนะ

นพ.ธีระ ระบุว่า เป็นกรณีศึกษาเคสแรกที่มีหลักฐานชัดเจนครบถ้วนว่า การกินผลิตภัณฑ์ที่มีสารประกอบจากกัญชา จนนำไปสู่การเสียชีวิต โดยไม่ได้มีการใช้สารเสพติดอื่นมาเกี่ยวข้องในเหตุการณ์

เป็นเรื่องที่ต้องย้ำเตือนกันให้ดีสำหรับไทย ที่การควบคุมผลิตภัณฑ์ อาหารการกิน และเครื่องดื่มต่างๆ ที่มีส่วนผสมเป็นกัญชาเป็นเรื่องท้าทาย หากควบคุมไม่ได้ อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ อุบัติเหตุ ความรุนแรง การทำร้ายตนเอง การฆ่าตัวตาย รวมถึงอาชญากรรมต่างๆ ตามมาในสังคม

โซเชียลเริ่มพบปัญหากินกัญชาในผลิตภัณฑ์อาหาร 

ขณะที่ในไทย เริ่มเห็นผลกระทบจากการรับประทานอาหารที่ใส่กัญชาลงไปเป็นส่วนผสมแล้ว ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งทวีตข้อความระบุว่า

ญาติกินคุกกี้กัญชาไปเพียงครึ่งชิ้น ผ่านไป 2 ชั่วโมงต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และพบว่า ที่ร้านขายคุกกี้ดังกล่าว นำเอาช่อดอกมาเป็นส่วนผสม และยังเปิดเผยข้อมูลด้วยว่า โรงพยาบาลมีคนเข้ามารับการรักษาตัวในลักษณะที่คล้ายกัน

ก่อนหน้านี้ กรมอนามัยแนะนำปริมาณใบกัญชาต่อเมนูไว้ในประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร โดยให้อาหารประเภททอด ใช้ใบกัญชา 1-2 ใบสด กรณีทำไข่เจียว แนะนำครึ่งใบ-1 ใบสด เนื่องจากสาร THC และ CBD ละลายได้ดีในน้ำมันอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด หากผสมในเครื่องดื่มขนาด 200 มิลลิลิตร ใช้ใบกัญชา 1 ใบสด

 

การกินเมนูกัญชาอาจส่งผลต่อสุขภาพในคนบางกลุ่ม ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เช่น ในกลุ่มเด็ก เยาวชน ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร รวมทั้งผู้หญิงที่วางแผนกำลังจะมีบุตร ผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ที่ตับและไตบกพร่อง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน หรือยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำ เพราะกัญชาจะไปเพิ่มขนาดยาวาร์ฟารินจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย และ ผู้ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยารักษาอาการจิตเวช

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

10 ข้อควรระวังใช้ผลิตภัณฑ์ "กัญชา"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง