ผู้โดยสารบอกตรงกันว่ารอรถประจำทางนานขึ้นจากเดิม 10 นาทีจะมีรถมา แต่ก็ต้องรอนานขึ้นเป็น 30 นาทีหรืออย่างบางคน เคยรอครึ่งชั่วโมงก็ต้องรอเป็น 1 ชั่วโมง
กรณีสื่อสังคมออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ต้องรอรถเมล์นานขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลัง 20.00 น. รถ เมล์ที่ให้บริการอยู่ในกรุงเทพได้หายจำนวนมาก อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยลงมาดูและแก้ปัญหา
ไทยพีบีเอส ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้โดยสารบอกตรงกันว่ารอรถประจำทางนานขึ้นจากเดิม 10 นาทีจะมีรถมา แต่ก็ต้องรอนานขึ้นเป็น 30 นาทีหรืออย่างบางคน เคยรอครึ่งชั่วโมงก็ต้องรอเป็น 1 ชั่วโมง
แต่เมื่อถามเหตุว่าทำไมรถเมล์ขาดช่วง ส่วนใหญ่บอกว่าเพราะรถน้อยลง แต่บางคนก็บอกว่า รถระยะไกล บางทีเอาแน่เอานอนไม่ได้ รถมาเร็วบ้าง ช้าบ้าง แล้วแต่วัน กำหนดเวลาไม่ค่อยได้

แต่อีกหลายคนที่ใช้บริการรถสาธารณะ ในช่วงสายๆ ไปจนถึง 16.00 น.ไม่เจอปัญหาเรื่องรถไม่พอหรือขาดช่วงเลย เท่าที่ดูรถก็ยังมีจำนวนมาก เจอปัญหาอย่างเดียวคือเรื่องรถติด จะเห็นได้ว่ากลุ่มนี้จะมีความเห็นที่แตกต่างไปจากกลุ่มที่ต้องไปทำงานเช้าและกลับค่ำ
สำหรับเส้นทางที่มีผู้โดยสารร้องเรียนมายังขสมก.ว่าต้องรอนาน เช่น สาย 510 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สาย 140 แสมดำ- อนุสาวรีย์ชัย สาย 516 หมู่บ้านบัวทองเคหะ-เทเวศร์ และสาย 73 อู่สวนสยาม-สะพานพุทธ
อ่านข่าวเพิ่ม รถน้อยลง! ขสมก.เคลียร์ปมรอรถเมล์นาน-บขส.ยันไม่หยุดวิ่ง

8 เส้นทางรถเมล์ที่ประชาชนร้องเรียนว่าขาดแคลน
- ถนนวิภาวดี-พหลโยธิน สาย 510 มธ.ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัย สาย 503 รังสิต-สนามหลวง
- ถนนรามอินทรา สาย 26 มีนบุรี-หนองจอก
- ถนนสุขุมวิท-ศรีนครินทร์ สาย 511 ปากน้ำ-สายใต้ใหม่ สาย 145 อู่แพรกษา (บ่อดิน)-หมอชิต2
- ถนนพระราม 4 พระราม 3 สาย 4 ท่าเรือคลองเตย-ท่าน้ำภาษีเจริญ สาย 205 อู่คลองเตย-เดอะมอลล์ท่าพระ
- ถนนพระราม 2 สาย 140 แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยฯ
- ถนนเพชรเกษม-บรมราชชนนี สาย 84 วัดไร่ขิง-สถานีรถไฟฟ้าวงเวียนใหญ่ สาย 509 พุทธมณฑลสาย 2-หมอชิต 2 สาย 515 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยฯ
- ถนนกาญจนาภิเษก สาย 516 หมู่บ้านบัวทองเคหะ-เทเวศร์ สาย 134 หมู่บ้านบางบัวทอง-หมอชิต 2
- ถนนนวมินทร์ สาย 73 อู่สวนสยาม-สะพานพุทธ

เติมรถเสริมเส้นที่ขาดแคลน
นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผอ.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยืนยันว่าแม้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่ขสมก.ไม่ได้ปรับลดเที่ยววิ่ง โดยบางเส้นทางอยู่ระหว่างปรับปรุงการจัดการเดินรถให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ เช่น ความถี่ในการปล่อยรถ จำนวนเที่ยววิ่ง จำนวนรถโดยสาร และจำนวนพนักงานประจำรถ ทำให้เกิดปัญหา
เบื้องต้นแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้น จะใช้วิธีการเกลี่ยจำนวนรถโดยสารที่มีอยู่ไปยังเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งจะนำแผนดังกล่าวหารือกับกรมการขนส่งทางบกโดยตั้งเป้าเร่งปรับปรุงแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือ ขสมก. และรถร่วม ขสมก.ว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า รถเมล์ไม่เพียงพอ รถขาดระยะ ต้องรอรถนาน โดยเฉพาะช่วงกลางคืนรถขาด
ยอมรับว่าในช่วง 2 ปีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รถน้อยลง เพราะมีผู้โดยสารเพียง 10-20% แต่ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 70% ของปี 2562 ขณะนี้เริ่มมีประชาชนกลับมาแล้วแต่ยังไม่พอ รวมถึงยังมีเส้นทางที่อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตใหม่ จากการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์
เบื้องต้นขอความร่วมมือให้ปรับเที่ยววิ่งให้เหมาะสม เช่น ช่วงเร่งด่วน ผู้ประกอบการต้องปรับความถี่มากขึ้น และช่วงคนใช้น้อยอาจจะปรับระยะห่าง และปรับแผนการเดินรถช่วงเวลาต่างๆ เพราะจำนวนคนขึ้นไม่เท่ากัน
นอกจากนี้ บางเส้นทาง อาจจะมีการตัดช่วง เช่น บางเส้นทางที่มีระยะทางไกล อาจมีรถบางคันที่ไปแค่ครึ่งทาง เพื่อนำรถมาหมุนเวียน ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ขสมก. และเอกชน หมุนเวียนรถ ช่วงรถไม่พอซึ่งหากเส้นทางมีความต้องการมาก สามารถรวมหรือขยายเส้นทางได้
ส่วนประเด็นเรื่องเวลาที่รถขาด ทุกเส้นทางทั้งเอกชน กำชับให้ ตั้งแต่ตี 05.00- 22.00 น. จะต้องมีรถให้บริการ ส่วนบางเส้นทางในอดีตที่มีการเดินรถช่วงกลางคืนถึงตีสอง ให้จัดการเดินรถด้วย ซึ่งปัจจุบันมี 21 เส้นทางที่วิ่งเกิน 22.00 น.
นายจิรุต กล่าวว่า บางเส้นทางอยู่ระหว่างเปลี่ยนผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานเดินรถ รวมถึงจะต้องนำรถใหม่ซึ่งเป็นรถอีวีเข้ามาให้บริการ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการถ่ายโอนเส้นทาง หากเส้นทางใดที่มีปัญหาจะให้ ขสมก. เอารถมาวิ่งแทน ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขสมก.ขีดเส้น 15 วัน เร่งแก้ปัญหา "รถเมล์น้อย"