วันนี้ (15 มิ.ย.2565) สภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณาประเด็นการให้สิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศดำรงสถานะคู่สมรส ไทยพีบีเอสชวนมาย้อนจุดเริ่มต้น ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยในปี 2555 มีคู่รักข้ามเพศ ต้องการจะจดทะเบียนสมรส แต่ถูกปฏิเสธ ร้องเรียนไปหลายหน่วยงาน ทำให้ในปี 2556 เกิดร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับแรกขึ้นมา โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม แต่ไม่ได้เข้าสภาฯ เพราะมีรัฐประหาร และไม่ผ่าน สนช.
ปี 2562 ซึ่งมีการเลือกตั้งทั่วไป ความหลากหลายทางเพศเป็นนโยบายที่ถูกพูดถึง แม้ภาคประชาชนพยายามเคลื่อนไหวให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เป็นหัวใจสำคัญของกำหนดรับรองการสมรสของชายและหญิง แต่ก็ไม่สำเร็จ
กระทั่ง ปี 2563 พรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.พ.พ. หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ ครม.ก็มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.พ.พ.อีกหนึ่งฉบับ ที่แก้ไขให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ก็ถูกทักท้วงจากวิปรัฐบาล ทำให้กระทรวงยุติธรรมต้องนำร่างกฎหมายไปแก้ไขอีกครั้ง ขณะที่ร่างพรรคก้าวไกล ถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในปีนั้น
อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของผู้ที่เรียกร้องสิทธิคือ การแก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ทำให้ในปี 2564 ภาคประชาชนขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปรากฏว่า ศาลชี้ว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และได้ออกคำวินิจฉัยเต็มรวมถึงความเห็นส่วนตน ว่า ปัญหาของการไม่ได้รับสิทธิในฐานะคู่สมรส สามารถแก้ไขได้โดยบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะ เช่น การยกร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต
ทั้งนี้ เส้นทางของร่างฉบับของพรรคก้าวไกล ไม่ค่อยจะราบรื่น เพราะนอกจากค้างท่อรอการพิจารณามาตั้งแต่ปี 2563 แม้จะได้ถึงคิวพิจารณาในวันนี้ แต่ก็ต้องไปสู้กับร่างที่มีจำนวนมาตราน้อยกว่า เนื่องจากไม่ได้แก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็คือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.พ.พ.ที่เสนอโดย ครม. และฉบับที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ
สมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต ความต่างที่พัวพันกฎหมายหลายฉบับ
ไม่ใช่เพียงชื่อ แต่สิทธิที่ได้รับแตกต่างกัน เพราะร่างฉบับพรรคก้าวไกล เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หลายประเด็น เช่น การเปลี่ยนคำว่า "สามีภริยา" ใน ป.พ.พ.ทั้งหมดให้เป็นคำว่า "คู่สมรส" เพื่อให้ สิทธิ-หน้าที่ ไม่ถูกจำกัดในกรอบเพศ มีผลผูกโยงไปยังกฎหมายอื่น ๆ ที่เขียนไว้ด้วยถ้อยคำว่า "คู่สมรส" ทำให้จะต้องแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ที่ใช้ถ้อยคำว่า "สามีภริยา" อีกหลายฉบับ
ขณะที่ข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทั้งสองฉบับกำหนดให้เรียกคู่ที่จดทะเบียนด้วยกันไม่ว่าเพศใดว่า "คู่ชีวิต" และให้นำสิทธิหน้าที่ของ "คู่สมรส" ใน ป.พ.พ. มาใช้โดยอนุโลม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการสินสมรส การหย่าร้าง การอุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่าย แต่สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ๆ ของ "คู่สมรส" หรือ "สามีภริยา" จะไม่ใช้บังคับกับคู่ที่จดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตด้วย
กฎหมายที่ระบุถึงสิทธิหน้าที่ของคู่สมรส เช่น พ.ร.บ.ภาษีมรดก ที่พูดถึงสิทธิการรับมรดกโดยไม่ต้องเสียภาษี หรือแม้แต่ พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่มีประเด็นสำคัญ เรื่องการรับสิทธิประโยชน์ทดแทนประกันสังคม หรือแม้แต่ การใช้นามสกุลของอีกฝ่าย ที่จะต้องไปแก้ พ.ร.บ.ชื่อบุคคล หรือแม้แต่เรื่อง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อีกหลายฉบับ
แม้จะถกเถียงกันว่า ควรจะลงมติในร่างฉบับไหนดี ก็ยังต้องยอมรับว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ในครั้งนี้ คือการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายครั้งสำคัญที่เป็นเรื่องยาว และผูกโยงต่อเนื่องไปถึงกฎหมายอีกหลายฉบับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตา! สภาฯ โหวต "สมรสเท่าเทียม" หลังวิปรัฐบาลมีมติคว่ำร่าง
"ก้าวไกล" ชี้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ทุกคนเข้าใจ พร้อมสู้ต่อชั้น กมธ.
"สมศักดิ์" ชี้แจงหลักการเสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต หวังรองรับสิทธิก่อตั้งครอบครัว