ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นิติฮับ-สนส.​ยื่น​ 1.6 หมื่นรายชื่อ​ ทวงถามปมทนายหญิงสวมกางเกงไปศาล

สังคม
17 มิ.ย. 65
15:16
340
Logo Thai PBS
นิติฮับ-สนส.​ยื่น​ 1.6 หมื่นรายชื่อ​ ทวงถามปมทนายหญิงสวมกางเกงไปศาล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นิติฮับ-สนส.​ยื่น​ 1.6 หมื่นรายชื่อจาก​ change.org​ พร้อมทวงถามความคืบหน้าจากเนติบัณฑิตยสภา​เกี่ยวกับการแก้ไขข้อบังคับ​ เพื่อให้ทนายความหญิงสวมกางเกงไปศาลได้

วันนี้​ (17​ มิ.ย.2565)​ ชนม์เจริญ ทับทิมโต ตัวแทนจาก กลุ่มนิติฮับ ร่วมกับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เดินทางมายังเนติบัณฑิตยสภา เพื่อยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการขอแก้ไขข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2507 ข้อ 17 ว่าด้วยการแต่งกายทนายความ เพื่อให้ทนายความหญิงสวมกางเกงไปศาลได้


นายชนม์เจริญ ระบุว่า หลังจากเปิดล่ารายชื่อผ่านแคมเปญใน Change.org ล่าสุด มีผู้ลงชื่อสนับสนุนแล้วมากกว่า 16,000 คน จึงได้นำรายชื่อมายื่นเพิ่มเติม และหวังว่าทางเนติบัณฑิตยสภาจะดำเนินการแก้ไข และไม่ตอบกลับมาเพียงว่ารับทราบเรื่องเหมือนก่อนหน้านี้

ขณะที่​ น.ส.ศุภมาศ​ สุญญาภัคโภคิน​ ทนายความหญิง​ สนส. ซึ่งในวันนี้ได้สวมกางเกง เดินทางมาร่วมยื่นหนังสือเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขข้อบังคับให้เดินหน้าต่อไป

น.ส.ศุภมาศ​ ยืนยันว่า​ การเป็นทนายความควรให้ความสำคัญกับกระบวนการพิจารณาคดี​หรือเนื้อหาตัวบทกฎหมาย​ ไม่ใช่การแต่งกาย​ แต่การสวมกางเกงของทนายความหญิง​ กลับสามารถทำลายเส้นทางอาชีพนักกฎหมายของทนายความได้​ ข้อบังคับนี้กำลังละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์​ เพราะนี่คือสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย​ ตามรัฐธรรมนูญ

เราไม่เข้าใจ​เลย​ เรื่องกระโปรง​ กางเกงมันสำคัญ​มากขนาดไหน ถึงทำให้เราถูกเพิกถอนใบอนุญาต​ ตัดสิทธิทำมาหากินในอาชีพได้​ หากถูกร้องมรรยาท​ ทั้งที่ไม่ได้บกพร่องในหน้าที่การว่าความ


ด้าน ผศ.ดร.ศรีพัชรา​ สิทธิกำจร​  ผอ.กองกลาง​ เนติบัณฑิตยสภา ได้เดินลงมารับหนังสือ พร้อมยืนยันว่า​ จะติดตามความคืบหน้าต่อไป​ แต่ทราบเรื่องว่าขณะนี้มีการยื่นร้องต่อศาลปกครองแล้ว​เมื่อหลายเดือนก่อน​ ทางเนติบัณฑิตยสภา​ จึงอาจต้องรอคำวินิจฉัยของศาลก่อนจะพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขข้อบังคับต่อไป

การเดินทางมาครั้งนี้ของ นิติฮับ และ สนส. นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งที่ 2 หลังเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2564 พวกเขาได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา สภาทนายความฯ และเนติบัณฑิตยสภามาแล้ว แต่ผ่านมานานกว่า 6 เดือนกลับไม่มีความชัดเจนใด ๆ เกี่ยวกับการแก้ไขข้อบังคับดังกล่าว และทนายหญิงยังต้องเผชิญกับปัญหาการแต่งกายไปศาลอยู่ทุกวัน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ทนายแจม" กับ 1 ปี ที่สวมกางเกงไปศาล เพื่อสิทธิทนายหญิง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง