วันนี้ (20 มิ.ย.2565) รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แถลงถึงกรณีนิวยอร์ก ไทมส์ สื่อชื่อดังของสหรัฐอเมริกา อ้างรายงานผลการศึกษาในประเทศไทย พบคนติดเชื้อ COVID-19 จากแมว เมื่อปี 2564
รายงานอ้างถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2565 ผ่านวารสารโรคติดต่อ Emerging Infectious Diseases ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (ซีดีซี) ระบุว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่พบการติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งคาดว่าเป็นการติดจาก “แมวสู่คน”
รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าวว่า การแพร่กระจายเชื้อจากแมวไปสู่คน เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 โดยแมวอายุ 10 ปี อยู่กับเจ้าของ 2 คน ใน กทม. เมื่อเจ้าของติดเชื้อ COVID-19 และขณะนั้นในพื้นที่ กทม. มีเตียงรักษาค่อนข้างจำกัด จึงวางแผนมารักษาตัวกับญาติที่ จ.สงขลา
ผู้ป่วยทั้ง 2 คนนั่งรถยนต์ส่วนตัวมาจาก กทม. พร้อมกับแมวตัวดังกล่าว กระทั่งวันที่ 8 ส.ค.2564 เข้ารักษาในหอผู้ป่วย COVID-19 ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และสัตวแพทย์เกรงว่าแมวจะติดเชื้อ ในวันที่ 10 ส.ค.2564 จึงตรวจแมวด้วยการแยงรูจมูกและรูทวาร ผลยืนยันติดเชื้อ COVID-19
แต่ขณะเก็บสิ่งส่งตรวจ แมวจามออกมา ซึ่งขณะนั้นสัตวแพทย์ ซึ่งใส่หน้ากากอนามัยแน่นหนา แต่ไม่ได้ใส่เฟสชิว เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่อีก 2 คน ที่ทำหน้าที่ผู้ช่วย
ต่อมาอีก 3 วัน หรือวันที่ 13 มิ.ย.2564 สัตวแพทย์เริ่มมีอาการไข้ ไอ และมีน้ำมูก อีก 2 วันต่อมาจึงเข้ารับการตรวจ พบว่า ติดเชื้อ COVID-19 โดยเข้ารับการรักษา ส่วนแมวในขณะนั้น ไม่มีอาการน้ำมูก ไอ กินอาหารได้ปกติ
ในส่วนของผู้ช่วยสัตวแพทย์ 2 คน จากการตรวจ 2 ครั้ง ไม่พบว่าติดเชื้อ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โอกาสการติดเชื้อจากแมวต่ำ หากไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดจริง ๆ ซึ่งในวันที่ 22 ส.ค.2564 ผู้ป่วยและสัตวแพทย์รักษาตัวครบ 7 วัน และออกจากโรงพยาบาล จากการติดตามอาการระยะหนึ่งพบว่า ไม่มีผลข้างเคียง ไม่มีอาการแทรกซ้อน และแมวก็มีอาการปกติ แข็งแรงดี
ทั้งนี้พบว่า เชื้อ COVID-19 ที่ติดในแมวขณะนั้น เป็นสายพันธุ์เดลตา โดยได้ตรวจลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อ COVID-19 ที่พบในเจ้าของแมว แมว และสัตวแพทย์ พบว่าเป็นชนิดเดียวกัน และจากการตรวจเปรียบเทียบกับตัวอย่างเชื้อที่มีอยู่ในชุมชน ก็ไม่พบว่ามีลักษณะทางพันธุกรรมแบบเดียวกัน จึงเชื่อว่าไม่ได้มาจากการระบาดในชุมชน แต่เป็นการระบาดเฉพาะคนสู่แมว และจากแมวสู่คน
แม้จะพบว่า มีความเสี่ยงต่ำในการระบาดจากแมวสู่คน หรือจากคนสู่แมว รวมถึงสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยก็ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง
โดยจากการศึกษาพบว่า กรณีแมวติดเชื้อนั้น ไม่พบว่ามีอาการจาม ไอ มีน้ำมูก จึงมีความเสี่ยงต่ำ และมีการตรวจพบที่รูทวารหนัก จึงแสดงได้ว่าเชื้อจะออกมาทางอุจจาระ ซึ่งปกติคนเลี้ยงก็จะไม่ได้ไปสัมผัสกับอุจจาระของสัตว์เลี้ยง แต่แนะนำให้ทำความสะอาดทั้งล้างมือด้วยสบู่และแอลกอฮอล์