วันนี้ (21 มิ.ย.2565) ที่ประชุมวุฒิสภา พิจารณารายงานของ คณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา เรื่องแนวทางการบริหารและการจัดการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดย พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมาธิการ ระบุว่า หลังเกิดปัญหาว่าจะต่อต่อสัญญาสัมปทาน ที่จะหมดสัญญาในปี 2572 หรือจะใช้ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนเปิดสัมปทานใหม่ จึงตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมแนวทางยุติปัญหาและปมการฟ้องร้องภาระหนี้สิน ที่บริษัทเอกชนฟ้องร้องกระทรวงมหาดไทย 30,000 ล้านบาท รวมถึงการกำหนดค่าโดยสารเพื่อส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ระเบียบและกฎหมาย
ช่วงหนึ่งระบุถึงบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กรุงเทพธนาคม เป็นกิจการพาณิชย์ของ กทม. จึงไม่ใช่เอกชน กทม.ถือหุ้นร้อยละ 99.96 ส่วนกรุงเทพธนาคมว่าจ้าง BTSC เดินรถ ซึ่งยังมีข้อโต้แย้งว่าการว่าจ้างนั้นเป็นไปโดยระเบียบและกฎหมายหรือไม่ ซึ่ง ป.ป.ช.จะเป็นผู้ชี้ขาด
ส่วนการต่อสัญญาให้ BTS มีคำสั่ง คสช.3/2562 วันที่ 11 เม.ย.2562 หลังรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ยังไม่สามารถเดินรถได้เนื่องจากไม่มีผู้เดินรถหากจะรอเปิดสัมปทาน เฉพาะส่วนต่อขยายที่ 2 เกรงว่าจะเกิดปัญหาหากผู้ได้รับสัมปทานเป็นคนละบริษัทกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเดิม
เช่นประชาชนอาจจะได้รับผลกระทบในการเปลี่ยนการเดินรถในการเชื่อมต่อขนส่งต้องเสียค่าแรกเข้าใหม่ ซึ่งเรื่องนี้จะคล้ายกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายทำให้ คสช.ออกคำสั่งให้ BM เดินรถเพื่อให้เป็นสายเดียวกัน เช่นเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวพยามหาผู้รับสัมปทานให้ทวงทันกับการเปิดเดินรถ
แฟ้มภาพ
สำหรับการจัดการทรัพย์สินและภาระหนี้สินที่มีข้อมูลว่า กทม.มีภาระหนี้สินมากกว่า 100,000 ล้านบาทนั้น และในการเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ที่เปิดบริการตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร โดยแนะนำให้เร่งจัดเก็บค่าโดยสารเพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินของ กทม.
ส่วนอัตราค่าโดยสารราคา 65 บาท นั้น ข้อเสนอจากกระทรวงมหาดไทยไปยัง ครม. และหยิบยกเรื่องการหาเสียงของผู้ว่าฯ กทม.ค่าโดยสาร 20 บาทตลาดสายมาพิจารณาด้วย และจำนวนผู้ใช้บริการที่มียอด ใช้บริการก่อนช่วงสถานการณ์โควิดวันละ 700,000 คน แต่ช่วงสถานการณ์โควิดลดเหลือวันละ 300,000 คน หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 500,000 -600,000 คน ซึ่งหากมีผู้ใช้บริการมากก็จะสามารถทำให้การจัดเก็บค่าโดยสารราคาถูกลงได้
แนะแนวทางหากไม่ขยายสัมปทาน - เปิดประมูลใหม่
คณะกรรรมการมีข้อเสนอแนวทางบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรณีขยายสัมปทาน โดยเห็นว่าประชาชนจะได้รับความสะดวกในการเดินทางจากการเดินรถต่อเนื่อง โครงการมีความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ จัดเก็บค่าโดยสารจะใช้โครงสร้างเดียวกันตลอดสายไม่เกิน 65 บาท กทม.แก้ปัญหาภาระหนี้สินได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ลดภาระงบประมาณแผ่นดินเพื่อมาอุดหนุนค่าโดยสาร และในช่วงสัมปทาน กทม.จะได้รับส่วนแบ่งค่าโดยสารมาชำระหนี้และจะได้รับเงินตอบแทนกรณีผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเกินร้อยละ 9.6
กรณีไม่ขยายสัมปทาน ไปอีก 30 ปี ต้องพิจารณาภาระหนี้สินที่บริษัท BTSC เมื่อเทียบกับอัตรารายได้สมเหตุสมผลหรือไม่ สัมปทานหลักหมดในปี 2572 ยังมีเวลามากที่จะสามารถพิจารณาให้เกิดความรอบคอบทุกมิติ การขยายสัมปทานให้กับเอกชนเพียงรายเดียวแบบเฉพาะเจาะจงในขณะที่โครงการลงทุนมีมูลค่าสูงอาจไม่เป็นไปตามหลักการของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุน ควรโอนภาระทางการเงินที่อยู่ระหว่างการดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะพิจารณาเรื่องสัมปทาน และหากมีการลงนามสัญญาร่วมทุนในอนาคตซึ่งหาก ป.ป.ช. มีผลพิจารณาว่าการที่ กทม. ทำสัญญาจ้างบริษัท BTSC ไม่สามารถทำได้จะส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
ทั้งนี้ข้อเสนอแนะรัฐบาลควรหาข้อยุติโดยเร็วว่าจะต่อสัมปทานให้กับ BTSC หรือไม่ หรือหากรอให้สัมปทานหมดอายุลงปี 2572 และดำเนินการประมูลกรณีนี้จะต้องมีการจัดเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งส่วนเหนือและใต้อย่างน้อยส่วนละ 25 บาท โดยมีการเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวจะทำให้ผู้โดยสารเดินทางจากคูคตถึงสมุทรปราการเสียค่าโดยสารจำนวน 25 + 44 + 15 + 25 = 109 บาท
ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการระบบตั๋วร่วม กทม.ควรเร่งเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 เพื่อนำมาเป็นรายได้ในการแบ่งเบาภาระหนี้สินของ กทม.ที่มีต่อบริษัท BTSC
กรณีที่ไม่ขยายสัมปทาน รัฐบาลควรสนับสนุนภาระหนี้สินของ กทม.ที่รับโอนมาจาก รฟม. ในช่วงปี 2565 - 2572 โดยการกู้เงินมาชำระหนี้และให้รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน และตรวจสอบเพื่อหาข้อยุติร่วมกับรัฐบาลและ กทม. กรณีภาระหนี้สินระหว่างบริษัท BTSC กับ กทม. ที่เกิดจากการจ้างเดินรถ
แฟ้มภาพ
พล.อ.ต. นพ.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายย้ำว่า น่าติดตามเรื่องนี้ว่าปัญหาจะจบอย่างไร พร้อมตั้งคำถาม ว่าหลังจากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะมีแนวทางใหม่ในการดำเนินการหรือไม่ ในกรณีที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กำลังให้ฝ่ายกฎหมายและบริษัทกรุงเทพธนาคม หาคำตอบว่าหากจะโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับไปที่ รฟม. มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนและจะมีปัญหาอย่างไร ซึ่งอยู่ในการกำกับของกระทรวงคมนาคมจะเกิดปัญหาใหม่เข้ามาหรือไม่ในข้อกฎหมาย
ส่วนตั๋วร่วมประโยชน์ที่ประชาชนจะได้ แต่เหตุใดยังติดข้อกฎหมายหรือติดนโยบายอะไร จึงไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ และการดำเนินการในอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน จนมีการหยิบยกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจหลายครั้งรวมครั้งนี้ และการเก็บค่าโดยสารติดข้อกฎหมายอะไร
ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม ชี้แจงคำถามของสมาชิกการโอนสายสีเขียวให้ รฟม. ซึ่งเป็นหนทางเลือกหนึ่งที่จะดำเนินการได้ แต่คณะกรรมาธิการตัดสินใจที่จะตัดข้อเสนอนี้ออกจากรายงานคณะกรรมาธิการ เพราะการโอนกลับหมายถึงการโอนสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 เท่านั้นจากคูคตไปหมอชิต และจากแบริ่งไปสมุทปราการ ไม่ได้หมายถึงสายสีเขียวส่วนเดิม และเห็นว่าแนวทางการโอนกลับคืนนั้นไม่เกิดประโยชน์แก่ประชาชน
ขณะเดียวกันเห็นด้วยว่าควรมีตั๋วร่วมเดิมจะให้ทำเป็นบัตรแมงมุม แต่มีผู้เห็นค้านว่าจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับรายใดรายหนึ่ง ซึ่งล่าสุดได้ข้อยุติที่จะทำเป็นบัตร EMV ใช้แพร่หลายในยุโรป ส่วนการจัดเก็บค่าโดยสารที่ยังไม่ได้จัดเก็บทาง กทม. ยังไม่ทราบว่าอำนาจในการจัดเก็บค่าโดยสารเป็นของใคร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
องค์กรผู้บริโภคค้านต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว-ค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย
"ศักดิ์สยาม" ยืนยันค้านเหมือนเดิม ต่อสัมปทาน "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ไม่ถูกต้อง
"วีระกร" เรียกร้องรัฐบาลไม่ต่อสัญญา "รถไฟฟ้าสายสีเขียว"
เปิดเวทีหาทางออกปมสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 19 ก.พ.