วันนี้ (27 มิ.ย.2565) นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดตัวฟังก์ชัน “ประเมินภาวะลองโควิด” และ “ตรวจสุขภาพใจ” บนแพลตฟอร์ม “หมอพร้อม”
นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาแพลตฟอร์ม “หมอพร้อม” เป็น Digital Health Platform ของไทย ปัจจุบันให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 การตรวจหาเชื้อโควิด-19 การออกเอกสารรับรองโควิด-19 ตามมาตรฐานสหภาพยุโรป และการออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล โดยจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แพลตฟอร์มหมอพร้อมมีความสมบูรณ์และบริการที่ครอบคลุมมากขึ้น
เพิ่ม 2 ฟังก์ชัน "หมอพร้อม"
ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยหลายคนที่รักษาหายแล้วยังเผชิญกับอาการป่วยจากโควิด-19 ที่หลงเหลืออยู่ หรือภาวะ “ลองโควิด” ขณะที่บางส่วนได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ จึงพัฒนาฟังก์ชันในหมอพร้อมเพิ่มเติมอีก 2 ฟังก์ชัน ได้แก่ กรมการแพทย์พัฒนาฟังก์ชัน “ประเมินภาวะลองโควิด” พร้อมชุดข้อมูลความรู้เกี่ยวกับภาวะลองโควิดสำหรับประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะลองโควิด วิธีเตรียมรับมือ และแนวทางการดูแลตนเอง
กรมสุขภาพจิต พัฒนาฟังก์ชัน “ตรวจสุขภาพใจ” เพื่อเป็นเครื่องมือประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น และคัดกรองความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 โดยทั้ง 2 ฟังก์ชัน จะให้บริการบนแพลตฟอร์มของหมอพร้อม ทั้ง LINE OA, แอปพลิเคชัน และเฟซบุ๊ก
ประเมินคนหายป่วยโควิดเกิน 1 เดือน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้พัฒนาชุดข้อมูลความรู้เกี่ยวกับภาวะลองโควิด เพื่อเป็นคำแนะนำการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว แต่ยังมีอาการหลงเหลืออยู่ พร้อมพัฒนาแบบประเมินสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป และมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นภาวะลองโควิด เช่น ผมร่วง เจ็บหน้าอก ใจสั่น อ่อนเพลีย เหนื่อยเรื้อรัง ไอเรื้อรัง สมองล้า ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใด นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า โดยประเมินภาวะลองโควิดเบื้องต้นด้วยตนเองผ่าน “หมอพร้อม Chatbot” โดยระบบจะประเมินระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น และให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง
ทั้งนี้ ประชาชนจะทราบถึงอาการผิดปกติ ความรุนแรง หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังการรักษาโรคโควิด-19หากพบว่ามีอาการรุนแรงจะแนะนำให้ประเมินซ้ำอีกในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากวันที่ตรวจพบเชื้อเพื่อติดตามอาการ หากอาการดังกล่าวกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก ควรพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอรับคำปรึกษาและรับการตรวจรักษาเพิ่มเติม
ขณะที่ พญ.อัมพร กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (UTC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาระบบ DMIND ซึ่งเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่จะช่วยประเมินและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่เผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตจากการสัมภาษณ์พร้อมใช้ข้อมูลใบหน้า เสียง และข้อความ ในการประเมินด้วยระบบ AI พร้อมให้คำแนะนำด้วยชุดข้อมูลความรู้ และเชื่อมโยงระบบกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือสำหรับกลุ่มเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตในระดับปานกลางและกลุ่มเสี่ยงระดับสูง
ระบบ DMIND จะเชื่อมระบบกับ “หมอพร้อม” บนฟังก์ชันตรวจสุขภาพใจ ซึ่งประชาชนสามารถเรียกใช้งานฟังก์ชันได้บนหมอพร้อมแชทบอท หรือที่เมนูบริการอื่น ๆ บน “หมอพร้อม” หรือเข้าถึงผ่านลิงก์ได้ที่ https://bit.ly/DMIND11 นอกจากนี้ ยังสามารถเข้ามาศึกษาความรู้สุขภาพจิตด้วยตนเองได้ โดยชุดข้อมูลประกอบด้วยหมวดความรู้ต่าง ๆ ประกอบด้วย เครียด ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย ภาวะหมดไฟ การเติมพลังใจ วิธีดูแลจิตใจเมื่อสูญเสียคนรัก และการฟื้นฟูสุขภาพและป้องกันอาการ Post COVID หรือปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง