ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทวิเคราะห์ : “ธรรมนัส” แผลงฤทธิ์ได้อีก

การเมือง
14 ก.ค. 65
18:23
510
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : “ธรรมนัส” แผลงฤทธิ์ได้อีก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

การประกาศเป็นพรรคฝ่ายค้านเต็มตัวของ ร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ด้วยเหตุผลได้บทเรียนจากชาวลำปาง เขต 4 ที่เทคะแนนให้นายเดชทวี ศรีวิชัย ผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ จากพรรคเสรีรวมไทย เอาชนะ “แชมป์เก่า” นายวัฒนา สุทธิวัง ที่ลงสมัครในสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 19-22 กรกฎาคมนี้ ส่อเค้าจะดุเด็ดเข้มข้นขึ้นทันที

ทั้งในแง่เนื้อหาอภิปราย ที่ถึงอย่างไร ร.อ.ธรรมมนัส และขุนพลในพรรค ศท. ย่อมต้องมีอะไรที่เป็น “อินไซต์” ในฐานะเคยเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เมื่อการผันตัวเองไปเป็นฝ่ายค้าน

หลังจากเชื่อว่า ชาวบ้านไม่เอารัฐบาลแล้ว ก็ต้องสร้างความประทับใจให้กับประชาชน โดยชี้ให้เห็นความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาล เพื่อเพิ่มต้นทุนให้กับร.อ.ธรรมมนัสและพรรค ศท.ไปพร้อมกัน

ถือเป็นการชดเชยที่ทำตัว “แทงกั๊ก” ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะตอนเลือกตั้งซ่อม จะเป็นฝ่ายค้านก็ไม่ใช่ จะเป็นฝ่ายรัฐบาลก็ไม่เชิง

อีกประการที่จะเพิ่มดีกรีความเข้มข้น คือจำนวนเสียงโหวตระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล หลังจากก่อนหน้านี้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลถ้ารวมกับ ส.ส.พรรค ศท. และกลุ่มพรรคเล็ก จะมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านเกือบ 60 เสียง

เมื่อพรรคเศรษฐกิจไทยถอนตัวไปเป็นฝ่ายค้าน ก็จะลดทอนเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลลงทันที 15 เสียง (เดิม 18 เสียง แต่ 2 คนถูก ปปช.ชี้มูลเกี่ยวข้องกับโครงการสนามฟุตซอลที่ จ.นครราชสีมา ต้องยุติการทำหน้าที่ หลังศาลรับฟ้อง อีก 1 คน คือ แพ้เลือกตั้งซ่อมที่ลำปาง)

ขณะที่กลุ่มพรรคเล็กที่รวมตัวกันในนามกลุ่ม 16 ถ้านับเอาแค่ 16 คน ตามชื่อกลุ่ม ก็จะมีเสียงรวมกับพรรคเศรษฐกิจไทยถึง 31 คน มากกว่าเสียงส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 1 เสียง

หากตัดประธานและรองประธานสภา ที่ต้องทำหน้าที่เป็นกลางออกไปอีก 3 คน จะทำให้เสียงฝ่ายค้านมากกว่ารวม 4 เสียง

อย่างไรก็ตาม ใน ส.ส.ฝ่ายค้านก็มี ส.ส.กลุ่มงูเห่า และ ส.ส.ฝากเลี้ยง ในซีกฝ่ายค้านอยู่ประมาณ 10 เสียง เช่นเดียวกับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่ปันใจออกห่าง เห็นได้ชัดจากหลายกรณี

รวมทั้งเสียงโหวตญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านๆ มา ทำให้ประเมินได้ยากว่า ในศึกซักฟอกรัฐบาลที่กำลังจะมีขึ้นนี้ เสียง ส.ส.ของฝ่ายไหนจะมีมากกว่ากัน

จึงเป็นที่มาของความดุเดือดเข้มข้นของศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะซีกรัฐบาล ต้องเตรียมการหนักแน่ ๆ ไม่ใช่เฉพาะเนื้อหาที่ต้องชี้แจงตอบข้อกล่าวหาฝ่ายค้านเท่านั้น ยังต้องตระเตรียมเรื่องคะแนนเสียงที่จะโหวตไว้วางใจด้วย

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อาจไม่มีปัญหาเรื่องคะแนนโหวตไว้วางใจ แต่รัฐมนตรีคนอื่น ๆ โดยเฉพาะ 3 รัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ ที่โดนขู่จากทั้ง ร.อ.ธรรมมนัส และแกนนำพรรคเล็กมาหลายครั้ง พึงต้องระวังและต้องออกแรงเหนื่อย

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ซึ่งจะว่าไปแล้ว ถือเป็นคู่กรณีของ ร.อ.ธรรมมนัสโดยตรง คนแรกเคยอยู่กลุ่ม 4 ช. ด้วยกัน อีก 2 คนหลังไล่เช้าไล่เย็น ร.อ.ธรรมมนัส ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเลขาธิการพรรค

ดังนั้น หากครั้งนี้ ร.อ.ธรรมมนัสเอาจริง เพื่อหวังเรียกต้นทุนกลับมา ตัวแปรสุดท้ายที่รัฐมนตรีหลายคนต้องวิ่งเข้าหาและเจรจาโดยมีเงื่อนไข คือกลุ่มพรรคเล็ก อย่างแย่ที่สุด คือให้เสียงโหวตไว้วางใจเกินกว่าครึ่งหนึ่งเอาไว้ก่อน

นอกจากรักษาหน้าได้แล้ว ยังจะช่วยรักษาเก้าอี้รัฐมนตรีไว้ได้อีกต่างหาก

ส่วนจะเกี่ยวโยงถึงสวนกล้วย เครือกล้วย และหวีกล้วยหรือไม่ ต้องติดตามกันเอาเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง