ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สธ.ชี้แจงเคส "เด็ก 6 ขวบ" เสียชีวิตจาก MIS-C หลังติดโควิด

สังคม
21 ก.ค. 65
11:03
3,144
Logo Thai PBS
สธ.ชี้แจงเคส "เด็ก 6 ขวบ" เสียชีวิตจาก MIS-C หลังติดโควิด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงกรณีเด็ก 6 ขวบ ติดเชื้อ COVID-19 และเสียชีวิตจากภาวะ MIS-C พบข้อมูลไม่ได้ฉีดวัคซีน แนะพ่อแม่พาลูกอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันความเสี่ยงอาการรุนแรง

วันนี้ (21 ก.ค.2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงกรณีข่าวเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 อายุ 6 ปี ติดเชื้อ COVID-19 ป่วยหนัก และเสียชีวิตจากภาวะ MIS-C หรือการอักเสบหลายอวัยวะ เบื้องต้นพบว่าไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการตรวจสอบกับหน่วยงานในพื้นที่ ข้อมูลเบื้องต้นเป็นเด็กชายอายุ 6 ปี 8 เดือน บ้านพักอยู่ที่ จ.ปทุมธานี ถูกวินิจฉัยโรค COVID-19 มีอาการไข้ น้ำมูก ถ่ายเหลว อ่อนเพลีย รักษาที่สถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ก่อนส่งตัวมารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลปทุมธานี เนื่องจากมีอาการซึม มือเท้าเย็นและช็อก เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา

แพทย์ได้ให้การรักษาอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้เกิดภาวะอักเสบในหลายอวัยวะ หรือที่เรียกว่าภาวะ MIS-C ทั้งที่หัวใจและปอด ส่งผลทำให้อาการรุนแรงเสียชีวิต สอดคล้องกับประวัติเด็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะ MIS-C กรมควบคุมโรคขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวอย่างยิ่ง

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์ของ COVID-19 ในประเทศไทย ในระยะนี้เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.5 แพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่มีการคลุกคลีใกล้ชิดกันตลอด เมื่อเด็กติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการป่วยไม่รุนแรง เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายได้เอง

อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนน้อยมากที่สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เกิดภาวะการอักเสบในหลายอวัยวะ หรือที่เรียกว่าภาวะ MIS-C ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง ซึ่งเป็นการอักเสบที่อวัยวะสำคัญ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือช็อก หากบุตรหลานมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจเร็ว เหนื่อย ซึม ตัวเย็น เรียกไม่รู้สึกตัว ภายหลังมีการติดเชื้อ COVID-19 แนะนำให้ผู้ปกครองรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

MIS-C ในเด็ก สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน เราต้องระวังแต่อย่าตื่นตระหนก เพราะไม่ได้เกิดบ่อยในเด็กที่เป็น COVID-19 หากเด็กได้รับการฉีดวัคซีนครบจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อและป่วยน้อยลง

ทั้งนี้ เชิญชวนให้นำลูกหลานไปฉีดวัคซีน ทั้งไฟเซอร์และซิโนแวค เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเพิ่มขึ้นทั้งกับตนเอง ผู้อื่นที่เป็นสมาชิกในครอบครัว และครูนักเรียนในโรงเรียน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง