วันนี้ (25 ก.ค.2565) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผย จากการสุ่มตรวจเชื้อโควิด-19 พบภาพรวมส่วนใหญ่เป็นเชื้อโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ร้อยละ 68 สัดส่วน BA.5 มีมากกว่าในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 หรือใน 100 คน มี 75 คน สัดส่วนในกรุงเทพฯ 80% ต่างจังหวัด 60%

BA.4-BA.5 หลบภูมิคุ้มกัน
ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่าง ในช่วงวันที่ 16 - 22 ก.ค. ในกรุงเทพฯ พบว่าในกลุ่มผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง 122 คน เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4, BA.5 ร้อยละ 77 ส่วนในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง ปอดบวม ใส่ท่อช่วยหายใจ จนเสียชีวิต จำนวน 54 คน เป็นติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4, BA.5 ถึงร้อยละ 87% ถือว่าสัดส่วนการติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4, BA.5 สูงกว่าในกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่พบว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4, BA.5 จะมีอาการป่วยที่รุนแรงกว่า

อาจอนุมานได้ว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 น่าจะมีโอกาสมีอาการรุนแรงได้มากกว่า แต่ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่ารุนแรงมากขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากไม่ได้เปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่เป็นการเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีอาการรุนแรงด้วยกัน แต่การติดเชื้อได้เร็วขึ้น มากขึ้น ก็ส่งผลให้มีแนวโน้มที่อาจเกิดอาการรุนแรงได้มากขึ้น
BA.2.75 กลายพันธุ์ แพร่เร็ว-หลบภูมิเก่ง
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ที่มีการกลายพันธุ์ และมีข้อห่วงใยว่าจะระบาดได้เร็วกว่าเดิมและหลบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิม ขณะนี้พบติดเชื้อที่ยืนยันแล้ว 1 คน ขณะนี้หายดีแล้ว ซึ่งในข้อเท็จจริงอาจมีผู้ติดเชื้อในกลุ่มนี้ มากกว่านี้

สำหรับการการเฝ้าระวัง สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ได้กำชับทุกพื้นที่ในการติดตาม โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างใน จ.ภูเก็ต ที่พบมีกลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดีย เข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก
ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีน 3 เข็ม พบว่า เชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.5 หลบภูมิคุ้มกันได้มากกว่า BA.2 แต่ยังป้องกันความรุนแรงของโรคได้ ทั้งนี้ แนะนำให้กลุ่มเสี่ยง 608 หากได้รับเข็ม 3 นานเกินให้ไปรับเข็มกระตุ้น
