ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทีมวิจัย ม.นเรศวร เก็บน้ำเสีย ตรวจหาซากเชื้อ "ฝีดาษลิง"

สังคม
26 ก.ค. 65
11:20
1,175
Logo Thai PBS
ทีมวิจัย ม.นเรศวร เก็บน้ำเสีย ตรวจหาซากเชื้อ "ฝีดาษลิง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัย ม.นเรศวร ใช้เทคโนโลยีตรวจหาเชื้อ "ฝีดาษลิง" โดยการตรวจเศษซากในน้ำเสียโสโครก นำร่องสุ่มตรวจตัวอย่างที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว ระบุเป็นมาตรการเฝ้าระวังที่ประหยัดงบ ตรวจพบเชื้อได้ทันทีแม้มีผู้ติดเชื้อแค่คนเดียว

วันนี้ (26 ก.ค.2565) ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักบริหารงบประมาณวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงการแพร่ระบาดของ โรคฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง ว่า ขณะนี้สหรัฐฯ ได้เริ่มตรวจการระบาดของฝีดาษลิง โดยตรวจเศษซากไวรัสในน้ำเสียโสโครก เป็นตัวชี้วัดการระบาดในระดับชุมชน 

 1 ตัวอย่างน้ำเสีย แทนการเฝ้าระวังทุกคนทั้งชุมชน

เนื่องจากไวรัสฝีดาษลิงจะถูกขับถ่ายออกมาทางอุจจาระของผู้ติดเชื้อ แม้จะยังไม่แสดงอาการในช่วงระยะฟักตัว 7-14 วัน ทำให้คณะวิจัยตรวจพบเศษซากไวรัสดังกล่าวในน้ำเสียโสโครกของเมือง ซึ่งรวมน้ำเสียจากทุกคนในทุกบ้านเรือนที่ขับถ่ายออกมาได้ โดยจะตรวจพบเศษซากไวรัส 7-14 วัน ก่อนที่ผู้ติดเชื้อจะรู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อและแสดงอาการ ทำให้สามารถควบคุมโรคได้ก่อนการระบาด

เทคนิคเดียวกันนี้ถูกใช้ในการเฝ้าระวังเชิงรุกและเตือนภัยล่วงหน้าการระบาดของโควิด-19 ในชุมชนและอาคารสาธารณะใน 58 ประเทศทั่วโลก

ตรวจหาเศษซากเชื้อ "ฝีดาษลิง" จากน้ำเสีย

สำหรับในประเทศไทย คณะวิจัยระบาดวิทยาน้ำเสียโควิด-19 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีการสกัดเศษซากไวรัสฝีดาษลิงในน้ำเสียโสโครกชุมชน เพื่อเฝ้าระวังการนำเข้าฝีดาษลิงจากต่างประเทศเช่นกัน

สำหรับการทดลองนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ผ่านสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งคณะวิจัยได้ทดลองตรวจน้ำเสียจากสนามบินสุวรรณภูมิจากตัวอย่างน้ำเสียในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ไม่พบเศษซากไวรัสฝีดาษลิง สอดคล้องกับการรายงานว่ายังไม่พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในประเทศไทย ณ เวลานั้น แม้ว่าจะมีการพบผู้ติดเชื้อแล้วใน 22 ประเทศ


การตรวจไวรัสฝีดาษลิงในน้ำเสียมีความปลอดภัย และไม่มีหลักฐานชี้ว่าสามารถติดฝีดาษลิงจากน้ำเสียได้ เช่นเดียวกับที่ไม่สามารถติดโควิด-19 จากเศษซากไวรัส SARS-CoV-2 ในน้ำเสีย

ดังนั้นการตรวจเศษซากไวรัสฝีดาษลิงในน้ำเสียจึงเป็นมาตรการเฝ้าระวังที่ประหยัดงบประมาณ และตรวจพบเชื้อได้ทันทีที่มีผู้ติดเชื้อแม้คนเดียวในชุมชน หรือมีนักท่องเที่ยวติดเชื้อคนเดียวในทั้งสนามบิน

ผศ.ดร.ธนพล กล่าวว่า หลังจากพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายแรกในไทย และองค์การอนามัยโลกประกาศให้เชื้อไวรัสฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หลังพบการระบาดในกว่า 75 ประเทศทั่วโลก

ประเทศไทยจึงต้องเตรียมความพร้อม ต้องเช็กของ คณะวิจัยระบาดวิทยาน้ำเสียโควิด-19 ของพร้อมแล้ว มีประสบการณ์ในการพัฒนาเทคนิคการตรวจเศษซากไวรัส SARS-CoV-2 ในน้ำเสียชุมชนเพื่อชี้เป้าการระบาดในเทศบาล

ทั้งการตรวจในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก เทศบาลนครยะลา และเทศบาลนครนครสวรรค์ ได้ถึง 20 วันล่วงหน้า สำหรับสายพันธุ์เดลตา และ 10 วัน สำหรับสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้เทศบาลรู้ตัวไวและสามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหายได้ 16 ถึง 40 เท่าตัว

ประหยัด ป้องกันนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ

ผศ.ดร.ธนพล  ระบุว่า ในช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาด ประเทศไทยไม่รู้จักเทคนิคระบาดวิทยาน้ำเสียเพื่อการเตือนภัยล่วงหน้า คณะวิจัยของเราต้องใช้เวลาถึงกว่า 1 ปีครึ่งในการพัฒนาห้องปฏิบัติการและเทคนิคการสกัด

ขณะที่ต่างประเทศสามารถปรับตัวใช้เทคนิคนี้ได้ในระยะเวลา 3-6 เดือน แสดงให้เห็นว่าต่างประเทศมีความพร้อมทางเทคโนโลยีมากกว่า แต่เมื่อเกิดการระบาดของฝีดาษลิง คณะวิจัยของมีความพร้อมและสามารถใช้เทคนิคนี้เฝ้าระวังการระบาดของฝีดาษลิงได้พร้อม ๆ กับที่สหรัฐฯ เริ่มทำ 

โรคที่แพร่ระบาดไม่เร็วนักแต่มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 1-10 อย่างฝีดาษลิง การตรวจเศษซากไวรัสในน้ำเสียจากสนามบินหรือแหล่งท่องเที่ยว นับเป็นการเฝ้าระวังการระบาดที่สามารถเตือนภัยล่วงหน้าได้และใช้งบประมาณน้อยที่สุด

ดังนั้นการตรวจน้ำเสียจากสนามบินเพื่อลดโอกาสการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศจึงน่าจะเป็นมาตรการที่สมเหตุผลที่สุดเมื่อไม่สามารถตรวจฝีดาษลิงในนักท่องเที่ยวรายคนทุกคนได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง