วันนี้ (4 ส.ค.2565) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมศบค.ว่า ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 2,166 คน ภาพรวมยังทรงตัว ในจำนวนนี้ป่วยหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ 476 คน อาการหนัก 905 คน มีผู้เสียชีวิต 29 คน
ส่วนวัคซีนเข็ม 1 ฉีดจำนวน 57 ล้านคน เข็ม 2 จำนวน 53 ล้านคน และเข็ม 3 ฉีดไป 31 ล้านคน จึงอยากให้มีการฉีดวัคซีนเพิ่มในส่วนของเข็มกระตุ้น เพราะตอนนี้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยอาการหนักหรือไม่หนักจะอยู่ที่วัคซีนเข็มกระตุ้น
นอกจากนี้จะต้องดูเรื่องศักยภาพของโรงพยาบาลสังกัดสาธารณสุข ภาครัฐ และเอกชนอยู่ที่ 17 % ถ้าไม่เกินศักยภาพ ก็ยังสบายใจในระดับหนึ่ง
ปอดอักเสบน่าห่วง-กลุ่มเสี่ยง 608
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า เมื่อดูรายละเอียดแนวโน้มปอดอักเสบ ในรอบ 14 วัน พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยใส่ท่อเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนจาก 393 ราย เป็น 476 คน และในช่วงเฉลี่ย 14 วัน มาจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิต 21 คน เพิ่มมาเป็น 29 คน
ส่วนผู้เสียชีวิต พบว่าอยู่ในกลุ่ม 608 ถึง 97 % หากวิเคราะห์ในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิต จะพบว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นถึง 22 คน
เมื่อดูจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่มีการลงทะเบียนแบบ OPSI หรือการตรวจ แบบ ATK แบบเจอ แจก จบ ในสัปดาห์ที่ 30 หรือระหว่าง 24-30 ก.ค. นี้ มีจำนวน 201,554 ราย เฉลี่ยเป็นการติดเชื้อรายวันจะมี 28,793 คน
ดังนั้นคาดการณ์ว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ในส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดังนั้นกลุ่ม 608 ควรรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ส่วนเสียชีวิต ก็แนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
ฉากทัศน์คาดการณ์โควิดรายสัปดาห์
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรคฉายภาพให้เห็น พบว่ารายใหม่ยังอยู่ในเส้นคาดการณ์ (สีเขียว) แต่การใส่ท่อช่วยหายใจไต่ขึ้นไปที่เส้นสีแดง จากเส้นทึบที่เป็นสถานการณ์จริง ตัวเลขกลุ่ม 608 และยังไม่ได้รับวัคซีนแนวโน้มในสัปดาห์ต่อไป และถึงสิ้นปีนี้จะมีตัวเลขเพิ่ม ดังนั้นอยากให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น
สอดคล้องกับเส้นการเสียชีวิต พบว่ากราฟแตะเส้นประสีแดง เกินฉากทัศน์เสียด้วยซ้ำ ซึ่งแม้แต่รายเดียวเราก็ไม่อยากให้เสียชีวิต
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนศักยภาพการครองเตียงในสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ไม่ถึง 20 % ส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มสีเขียวเยอะ มีแค่บางพื้นที่ อัตราของเตียงระดับ 3 พบว่า แดงบ้างนิดหน่อย แต่เตียงผู้ป่วยยังสามารถขยายได้
ส่วนยาและเวชภัณฑ์มีเพียงพอ โดยยาโมลนูพิราเวียร์ มีเพียงพอ และการจ่ายยาควรทำโดยแพทย์ โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ไม่ควรซื้อยากินเอง เนื่องจากห่วงคุณภาพ และอาจเกิดอันตราย
พบนักเรียนติดโควิดจากโรงเรียน 5.66%
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนการติดเชื้อในสถานศึกษาจากข้อมูลจากกรมอนามัย พบว่า การติดเชื้อผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 18 ปี ในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.จะมีผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่าในช่วงวันที่ 1 เม.ย.-31 ก.ค.นี้ และมีอัตราการติดเชื้อในสถานศึกษาคิดเป็น 10 % และเมื่อมีการสัมภาษณ์การติดเชื้อในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา
จากแบบประเมินพฤติกรรมสุขภาพนักเรียนในสถานการณ์การโควิด-19 ระลอกใหม่ในสถานศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 49,242 คน โดยกรมอนามัย พบว่า นักเรียนติดโควิด ร้อยละ 30.56 ยังไม่เคยติดเชื้อ ร้อยละ 68.53
ทั้งนี้ เมื่อดูมาตราการ 6-7-7 พบว่าได้รับความร่วมมือในส่วนบุคคล และสถานที่เป็นอย่างดี แต่อาจมีข้อจำกัดบางเรื่อง เช่น สังเกตอาการ แต่อย่างการปฎิบัติตามเกณฑ์โควิดฟรีเซ็ตติ้งได้รับความร่วมมือถึง 90 %
ส่วนการประเมินการปิดโรงเรียน หลังมีการติดเชื้อในเด็กนักเรียนพบว่าเป็นการติดเชื้อจากอื่นๆ มากที่สุด รองลงมาติดเชื้อจากบุคคลในบ้าน และมีแค่ 5.66 % ที่ติดเชื้อในโรงเรียน
ส่วนอาการป่วยที่พบมากที่สุดในนักเรียน คือ มีไข้ รองลงมาไอ น้ำมูก ปวดตามตัว และหากประเมินว่าเด็กนักเรียน เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในครอบครัวหรือไม่ พบว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในครอบครัวแค่ 0.36 %
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. จะเป็นประธานการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในครั้งต่อไปวันที่ 19 ส.ค.นี้ โดยจะนำข้อมูลเข้าพิจารณาและนำไปสู่การปฏิบัติ จึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันนำไปดูการดูแลรายบุคคล ชุมชน และสังคม เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้อย่างดี