นายรุ่ง เสือสิงห์ เกษตรกรผู้ปลูกดอกมะลิ หมู่ที่ 1 ต.บ้านมะเกลือ อ.เมืองนครสวรรค์ ระบุว่า ราคาดอกมะลิปรับสูงขึ้นจริง จากเดิมขายกิโลกรัมละ 50-100 บาท ขณะนี้ปรับสูงขึ้นกิโลกรัมละกว่า 1,000 บาท แต่ผู้ปลูกมีรายได้ไม่มากอย่างที่คิด เพราะสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ดอกออกน้อย
สำหรับปริมาณดอกมะลิที่ออกน้อย ทำให้ขณะนี้มีกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ส่งคนงานขี่รถจักรยานยนต์ เข้าไปรับซื้อถึงไร่ และแข่งกันให้ราคาที่สูง เพื่อแย่งดอกมะลิไปขายทำกำไร
ขณะที่ราคาดอกมะลิบนเว็บไซต์ตลาดไทยวันที่ 9 ส.ค.2565 ราคาอยู่ที่ 450 - 500 บาท ซึ่งเดือนที่แล้วราคายังอยู่ที่ราคา 100 - 150 บาท ส่วนตลาดสี่มุมเมือง ราคาวันนี้ (10 ส.ค.2565) อยู่ที่กิโลกรัมละ 600 บาท
มาลัยดอกมะลิเป็นดัชนี ชี้วัดได้ระดับหนึ่งว่าผู้คนจะเริ่มจับจ่ายใช้สอย ทำให้ช่วงเทศกาลคึกคักมากขึ้น ปีนี้ขยายตัวสะท้อนภาวะเศรษฐกิจเเค่ไหน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,288 ราย ระหว่างวันที่ 28 ก.ค.-3 ส.ค. 2565 ในหัวข้อทัศนคติและพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนเกี่ยวกับวันแม่ ปี 2565
คาดการณ์การใช้จ่ายวันแม่ปีนี้จะมีเงินสะพัดกว่า 10,883.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2555 ที่เพิ่มขึ้น 5.7% โดยเงินจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นการใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ มูลค่า 10,012.65 ล้านบาท และการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว 870.67 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเริ่มคลายกังวลกับสถานการณ์โควิด-19 และกลับมาใช้จ่ายในช่วงเทศกาลมากขึ้น ท่องเที่ยวมากขึ้น และยังมองว่าเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น
สำหรับกิจกรรมที่จะทำในวันแม่ ส่วนใหญ่จะพาแม่ไปรับประทานข้าวนอกบ้าน ใช้เงินเฉลี่ย 1,880 บาท ไปทำบุญ เฉลี่ยประมาณ 1,541 บาท และพาไปเที่ยวต่างจังหวัดทั้งแบบไม่ค้างคืน ประมาณ 4,900 บาท ส่วนแบบค้างคืน ใช้จ่ายมากกว่า 10,000 บาท และยังเตรียมซื้อของขวัญ ทั้งทองคำและเงินสด รวมไปถึงนำพวงมาลัย ดอกไม้ และเครื่องดื่มบำรุงร่างกายเพื่อไหว้แม่ด้วย