เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2565 ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เข้าจับกุมผู้ต้องหา 14 คน จากที่ออกหมายจับทั้งหมด 21 คน หลังร่วมกันปลอมเอกสาร เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์โควิด-19 จากบริษัทประกันภัยต่าง ๆ โดยทุจริต ฉวยโอกาสใช้ช่องว่างของขั้นตอนการรับเงิน นำผลตรวจโรคโควิด-19 ปลอมไปยื่น เพื่อขอรับค่าสินไหมทดแทน เหตุเกิดตั้งแต่เมื่อปี 2562

ในกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม มี 3 คน เป็นตัวแทนของบริษัทประกันชีวิต ที่หลอกขายประกันให้กับลูกค้า แต่ไม่นำชื่อลูกค้าเข้าสู่ระบบ รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดประมาณ 53 ล้านบาท
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ระบุว่า สำหรับผู้ต้องหากลุ่มแรก มีพฤติการณ์ เป็นผู้ที่ทำประกันโควิด-19 กับบริษัทประกันภัย แล้วถูกกลุ่มบุคคลชักชวนให้ทำเอกสารใบตรวจโควิด-19 ปลอม หรือใบ RT-PCR แล้วนำไปยื่นเคลมกับบริษัทประกัน ซึ่งมีผู้ต้องหา 11 คนได้รับเงินประกันไปแล้วคนละ 50,000 บาท โดยมีการหักค่าดำเนินการให้กลุ่มบุคคลที่ชักชวนไปคนละ 30,000 บาท

ต่อมา บริษัทประกันได้ตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียด พบว่าใบตรวจ RT-PCR เหมือนใบตรวจสถานพยาบาลที่มีอยู่จริงแต่หมายเลขผู้ป่วยเมื่อค้นในระบบพบว่ารายชื่อไม่ตรงกัน จึงทำให้รู้ว่าเป็นผู้ป่วยปลอม ทางบริษัทจึงส่งเรื่องกับ คปภ. ต่อมา คปภ.นำระบบ AI ตรวจสอบพบว่าเอกสารมีการปลอมแปลงจริง จึงนำมาแจ้งความกับตำรวจกองปราบปราม
สำหรับคดีนี้ ตำรวจอยู่ระหว่างขยายผลเพิ่มเติม เพราะตั้งข้อสังเกตว่า หากผู้ก่อเหตุไม่รู้ว่าใครทำประกันไว้บ้างจะไปชักจูงให้มาร่วมก่อเหตุได้อย่างไร จึงต้องสืบหาข้อเท็จจริงในส่วนนี้ต่อไป
ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี คปภ. ยังระบุว่า ยิ่งมีการเบิกจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนมากเท่าใด ผลกระทบจะตกไปอยู่ที่ผู้บริโภคคนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งจากสถิติการฉ้อฉลประกันภัยทั่วโลก พบการฉ้อฉลสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของการเคลมสินไหมของแต่ละประเทศ ซึ่งจริง ๆ หากไม่มีการฉ้อฉลประกันภัยเกิดขึ้น ทุกคนที่สุจริตจะจ่ายเบี้ยถูกลงกว่าร้อยละ 10-15