เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2565 สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ศาลเมียนมาตัดสินโทษจำคุก "ออง ซาน ซูจี" เพิ่มอีก 6 ปี ในข้อหาทุจริต จากเดิมก่อนหน้านี้ซูจีถูกตัดสินโทษจำคุก 11 ปี ทำให้ขณะนี้ต้องโทษจำคุกรวม 17 ปี และปัจจุบันซูจี อายุ 77 ปีแล้ว
การตัดสินโทษครั้งนี้นำมาซึ่งเสียงวิจารณ์จากนานาชาติ ทั้งรัฐบาลฝรั่งเศสที่ออกมาประณามคำตัดสินของศาลเมียนมา และอียูซึ่งระบุว่าคำตัดสินนี้ไม่เป็นธรรม รวมทั้งร้องขอให้ปล่อยตัวซูจีทันที
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ซูจีเผชิญโทษจำคุกเพิ่ม สะท้อนว่ารัฐบาลทหารเมียนมาต้องการกันเธอออกไปจากศึกเลือกตั้ง และมองว่ามิน อ่อง หล่าย ต้องการจัดการเลือกตั้งโดยไร้คู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองปัจจัยด้านอายุ เส้นทางการเมืองของซูจีแทบไม่มีหวัง ไม่ว่าจะต้องโทษจำคุกหรือไม่ แต่เมื่อมีโทษจำคุก 17 ปีในขณะนี้ และยังไม่รวมที่อาจจะถูกตัดสินเพิ่มอีก คงยากที่จะได้เห็นเธอมีอิสรภาพอีกครั้ง หากอาเซียนและประชาคมโลกไม่ยื่นมือเข้าแทรกแซง
ผู้แทนพิเศษ UN เยือนเมียนมาครั้งแรก
สถานีโทรทัศน์ MRTV สื่อทางการเมียนมา นำเสนอภาพ โนลีน เฮย์เซอร์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา เดินทางถึงเมียนมาเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 16 ส.ค. นับเป็นการเยือนครั้งแรกในบทบาทดังกล่าว
แถลงการณ์ของยูเอ็น ระบุว่า การเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังการหารือกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคประชาสังคม และกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแข้งในเมียนมา โดยจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังถดถอยและข้อกังวลต่างๆ รวมทั้งประเด็นสำคัญอื่นๆ
แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่า ผู้แทนพิเศษยูเอ็นมีกำหนดจะพบปะกับใคร จะหารือกับผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา หรือจะพยายามขอเข้าพบซูจีหรือไม่ ทั้งนี้คาดว่าเธอจะพบปะกับบุคคลสำคัญต่างๆ ในกรุงเนปิดอว์
ก่อนหน้านี้ ผู้แทนพิเศษอาเซียนด้านเมียนมา เคยเดินทางเยือนเมียนมาและพยายามขอเข้าพบซูจี แต่ไม่สำเร็จ โดยช่วงเดือน ก.ย.2564 เอรีวาน ยูซอฟ จากบรูไน เดินทางเยือนเมียนมา แต่รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ให้พบ
ส่วนเดือน มี.ค.2565 ประ โซคน รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาและผู้แทนพิเศษอาเซียนด้านเมียนมา เดินทางเยือนเมียนมาและไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน แต่รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าเดือน ก.ย.นี้ มีแผนจะเยือนเมียนมาอีกครั้ง และอาจจะขอพบกับซูจี เพื่อพยายามยุติความรุนแรงในเมียนมา
เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมาจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลกอีกครั้ง หลังจากประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวและอดีต ส.ส. พรรค NLD ในข้อหาเกี่ยวกับการก่อการร้าย จนนำมาซึ่งการออกแถลงการณ์ประณามเมียนมาของหลายฝ่าย แม้กระทั่งพันธมิตรที่ใกล้ชิดและมีสัมพันธ์อันดีกับกองทัพเมียนมาอย่างรัสเซียและจีน
เป็นเวลาเกิน 1 ปีครึ่ง ที่เมียนมาตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร หลังกองทัพเข้ายึดอำนาจ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ปัจจุบันยังมีการประท้วง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวต่อต้านหลังกองทัพเมียนมาสั่งประหารนักเคลื่อนไหวเมื่อเดือน ก.ค. โดยกลุ่มต่อต้านหวังว่าสักวันหนึ่งบรรดานายพลที่ออกคำสั่งจะต้องเผชิญบทลงโทษ
อ่านข่าวอื่นๆ
สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ เยือนไต้หวัน
สื่อต่างชาติรายงาน พบสุนัขติด "ฝีดาษวานร" จากคน
จีนเตือนภัยอุณหภูมิระดับ "สีแดง" คาดบางพื้นที่ร้อนพุ่ง 40 องศาฯ