วันนี้ (19 ส.ค.2565) ที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวิชัย กฤษดาธานนท์ กับพวกรวม 6 คน ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน
โดยคดีนี้โจทย์ฟ้องจำเลยรวม 141 กรรม ต่างกัน และขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 6 ตามฟ้อง โจทก์ยังขอให้ศาลนับโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ต่อจากคดีที่จำเลยทั้ง คดีถึงที่สุดแล้วในคดีของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งนี้ ศาลฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วให้รวมคดีเลขที่ อท.214/61 และคดีเลขที่ อท.289/61 เป็นคดีเดียวกัน
ขณะที่จำเลย ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีได้หรือไม่ ซึ่งศาลเห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องและไม่เป็นการฟ้องซ้อน หรือฟ้องซ้ำในคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และผูกพันกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ขณะที่จำเลยทั้ง 6 ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาตามฟ้อง
คดีนี้ข้อเท็จจริง ศาลรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทราบดีว่า บริษัทผู้กู้ ไม่สามารถกู้ยืมเงินได้จากธนาคารผู้เสียหาย อีกทั้งไม่มีแผนฟื้นฟูหนี้สินที่ชัดเจน
ดังนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 จึงรู้ว่า เงินที่ได้มาจากธนาคาร ได้มาโดยไม่ชอบเป็นความผิดในข้อหาฟอกเงิน อีกทั้งจำเลยเป็นผู้บริหารจะอ้างว่าไม่รู้เกี่ยวกับการโอนจ่ายเช็คจึงเป็นไปไม่ได้
ดังนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 4 ซึ่งอ้างว่าทำหน้าที่เป็นผู้เปิดบัญชีหลักทรัพย์แทนจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานเข้าข่ายความผิดร่วมกันฟอกเงิน
ส่วนจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 มีการกระทำผิดที่เข้าข่ายลักษณะการรับโอนเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน เพื่อช่วยเหลือจำเลยคนอื่น มีความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินตามฟ้องเช่นกัน
โดยศาลฯมีคำพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 860 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 จำนวน 118 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 จำนวน 416 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 จำนวน 38 ปี จำคุกจำเลยที่ 5 จำนวน 235 ปี และจำคุกจำเลยที่ 6 เป็นเวลา 262 ปี
ทั้งนี้ตามกฎหมายที่ระบุไว้เกี่ยวกับโทษสูงสุดของการสั่งจำคุก คดีนี้ศาลจึงมีคำสั่งจำคุกจำเลยที่ 1-6 เป็นเวลาคนละ 20 ปี พร้อมทั้งให้จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 6 ร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหายให้กับธนาคารผู้เสียหายภายใน 30 วัน หลังศาลมีคำพิพากษา หากผิดนัดชำระให้คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี แทนการสั่งริบทรัพย์สินของจำเลย เพื่อใช้คืนความเสียหายที่มีมูลค่ามากถึงกว่า 8,800 ล้านบาท