ในช่วงบรรยากาศสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ไทยพีบีเอสออนไลน์ชวนมารู้จักกับนักวิทยาศาสตร์อีกแขนง กับนักวิจัยถ้ำ ศึกษาข้อมูล ค้นหาสิ่งมีชีวิตในที่มืด เพื่อนำข้อมูลมาเผยแพร่ให้ทุกคนได้รู้กันเป็นวงกว้าง แต่กว่าจะมีทั้งภาพ ข้อมูล หรือเสียงมาให้ได้ชมและฟังกันนั้นมีกระบวนการอย่างไรบ้าง
ด้วยความหลงใหลในการเที่ยวถ้ำ ทำให้นายเรืองฤทธิ์ พรหมดำ นักวิทยาศาสตร์ประจำพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษาสยามบรมราชกุมารี และศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ.ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หันมาตั้งมั่นเพื่อเป็นนักวิจัยถ้ำอย่างจริงจัง
10 ปีกับการศึกษาและวิจัย เขาสวมรองเท้าบูทคู่ใจ พร้อมอาวุธประจำกายทั้งไฟฉายพกพา กล้องถ่ายใต้น้ำ และกล้องซูมระยะไกล รวมถึงหลอดเก็บตัวอย่างสัตว์ สวิงล้อมจับปลา ปู และเสียมมือขนาดกะทัดรัดพกพาได้ถูกบรรจุใส่กระเป๋ากันน้ำ เดินสำรวจถ้ำในประเทศไทย ขึ้นเหนือ-ลงใต้มาแล้ว 300 - 400 แห่ง
สำรวจถ้ำวิจัยสัตว์ เหมือนหาสมบัติในที่มืด
การสำรวจถ้ำเพื่อวิจัยสิ่งมีชีวิตนั้น อ.เรืองฤทธิ์ บอกว่า มีโจทย์ให้ได้ท้าทายมากมาย ทั้งซอกหลืบของถ้ำที่สัตว์บางชนิดอาจจะแอบอยู่ด้านใน ลำธารหรือน้ำที่ไหลผ่าน ไปจนถึงดินหรือทรายที่สัตว์จำพวกปูมักอาศัยอยู่ วิธีเก็บตัวอย่างจึงต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ และทักษะ เพราะสัตว์แต่ละชนิดต้องใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกัน
สัตว์ที่ต้องใช้กับดักมีค้างคาว และหนูเป็นหลัก ส่วนสัตว์อื่น ๆ จะใช้อุปกรณ์เฉพาะ อย่างพวกแมลงจะใช้หลอดดูดเก็บตัวอย่าง ส่วนปลาและปูใช้มือจับบ้าง หากปูขุดรูก็จำเป็นต้องใช้เสียมขุด แต่ข้อดีของถ้ำคือความมืด สัตว์ที่ส่วนใหญ่จะออกมาเดินช่วงกลางคืนจึงสามารถพบเห็นมันเดินอยู่บนดินได้แม้เข้าไปสำรวจในช่วงกลางวัน
การสำรวจแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ ยิ่งใช้เวลามากก็มีโอกาสพบสิ่งมีชีวิตมากยิ่งขึ้น อย่างไปถ้ำแห่งหนึ่ง พบซากปูขายาว ซึ่งเป็นปูหายาก แต่เมื่อไปสำรวจอีกถ้ำก็รู้สึกได้ว่าอาจจะพบปูขายาวตัวเป็น ๆ จึงเข้าไปสำรวจซ้ำ ๆ 1 รอบ 2 รอบ จนรอบที่ 5 จึงได้พบตัวเป็น ๆ ของปูขายาว
จากเจอแค่ซากในอีกถ้ำ เราไปสำรวจอีกถ้ำ 5 รอบ ในที่สุดเราก็ได้เจอตัวมัน เหมือนเรากำลังหาสมบัติล้ำค่าที่ไม่มีใครเคยเห็น ทุกขั้นตอนทำให้เราตื่นเต้นและสนุกทุกครั้งกับการสำรวจถ้ำ
ภาพ : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
"ปูเขาหินปูนทุ่งหว้า" ตัวเอกในถ้ำสตูล
ในปี 2563 อ.เรืองฤทธิ์ ได้เป็นส่วนหนึ่งในทีมสำรวจถ้ำใน "อุทยานธรณีโลกสตูล" 3 แห่ง ได้แก่ ถ้ำเลสเตโกดอน อ.ทุ่งหว้า ถ้ำอุไรทอง และถ้ำทะลุ อ.ละงู โดยได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. การสำรวจและศึกษาวิจัยครั้งนั้น ทำให้พบสัตว์และจุลินทรีย์มากกว่า 300 ชนิด
การสำรวจถ้ำจะมีนักวิจัยหลายทีม แบ่งกันไปตามความเชี่ยวชาญ ส่วนตัวรับผิดชอบสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง กลุ่มปู ปลา ทำให้เวลาเลือกถ้ำสำรวจจะเลือกจากที่มีน้ำ หรือลำธารไหลผ่าน เพราะแสดงถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ถ้ำสูงมาก ๆ บางครั้งก็ไม่คุ้มที่จะปีนขึ้นไป
ภาพ : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, www.navanurak.in.th
มีสัตว์แปลกที่พบได้ยากอีกมาก อย่าง "แม่หอบ" สัตว์ในกลุ่มกุ้งที่มีเปลือกแข็งคล้ายปู สีสันสดใส มีหางยาว ๆ แต่พับคดไว้เพราะไม่ได้ใช้ประโยชน์ เป็นพวกชอบขุดรูอยู่ใต้ดิน นานครั้งจะโผล่ขึ้นมา แล้วหอบดินออกมาจากรูด้วย จึงถูกเรียกว่า แม่หอบ หรือค้างคาวหน้ายักษ์กุมภกรรณ สัตว์หน้าแปลกที่ใกล้จะสูญพันธุ์ และพบได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
มากกว่าการพบสัตว์แปลกทั่วไป สิ่งที่เป็นความท้าทายของนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยไทย คือ การค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ของโลก ซึ่งสำรวจถ้ำ 3 แห่งในครั้งนี้ ทำให้ได้พบ "ปูเขาหินปูนทุ่งหว้า" ซึ่งเป็นปูที่ อ.เรืองฤทธิ์ ร่วมกับนักวิจัยจาก มอ.ปัตตานี และนักวิจัยชาวสิงคโปร์ เคยค้นพบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกในถ้ำแห่งหนึ่งใน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล
ปูเขาหินปูนทุ่งหว้า นับว่าเป็นตัวเอกสำหรับการท่องเที่ยวถ้ำในอุทยานธรณีโลกสตูล เพราะเป็นสัตว์ชนิดใหม่ของโลก กลายเป็นจุดขายดึงดูดให้คนที่สนใจเข้ามาศึกษาธรรมชาติ
สำหรับปูเขาหินปูนทุ่งหว้านั้น มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปูเขาหินปูนสตูลขาเดินเรียวยาวมาก และกระดองค่อนข้างแบน แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างออกไปเพียงพอที่จะแยกออกเป็นปูชนิดใหม่ โดยมีความหนาของเส้นขอบกระดองด้านข้างส่วนหน้า ความหนาแน่นและความเด่นชัดของตุ่มบริเวณต่าง ๆ สัดส่วนความยาวของขาเดินปล้องรองจากปลายสุด และที่เด่นชัดที่สุดคือสีสันในตัวที่เต็มวัย จึงได้ร่วมกันทำการบรรยายลักษณะ และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามพื้นที่ที่พบปูชนิดนี้ว่า Terrapotamon thungwa และตั้งชื่อไทยว่า ปูเขาหินปูนทุ่งหว้า
"เรืองฤทธิ์" กับสัตว์ชนิดใหม่ของโลก
นอกจากปูเขาหินปูนทุ่งหว้า แล้ว อ.เรืองฤทธิ์ ยังได้ร่วมบรรยายลักษณะสัตว์ชนิดใหม่ (new species) ของโลกมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน
ปูชนิดใหม่
- ปูแสมอาจารย์ปิติวงษ์ Lithoselatium tantichodoki Promdam & Ng, 2009
- ปูแบกหินสองหนาม Pseudopalicus bidens Promdam & Nabhitabhata, 2012
- ปูเขารามโรม Nakhonsimon ramromensis Promdam & Nabhitabhata & Ng 2014
- ปูกระดุมท้ายสี่จุด Coleusia huilianae Promdam, Nabhitabhata & Galil, 2014
- ปูเขาหินปูนทุ่งหว้า Terrapotamon thungwa Promdam, Yeesin & Ng, 2017
ครัสเตเชียนอื่น ๆ
- Theosbaena loko Jantarit, Promdam & Wongkamhaeng, 2020
นักวิจัยถ้ำไทย กระบอกเสียงข้อมูลส่งถึงคนรุ่นหลัง
อ.เรืองฤทธิ์ บอกไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า การค้นหาสัตว์ชนิดใหม่ของโลกได้อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างของจำนวนนักวิจัยถ้ำที่ยังมีพื้นที่อีกมาก ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของความมืด หรือสิ่งแวดล้อมโดยรอบจึงทำให้มีนักวิจัยถ้ำไทยที่พบเจอกันในการทำงานอยู่ไม่ถึง 30 คน สิ่งมีชีวิตบางชนิดที่มีมากในถ้ำอย่างแมง แมลง สัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ รวมถึงจุลินทรีย์ก็ยังมีนักวิจัยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่น้อยมาก
ถ้ามีคนสำรวจถ้ำ ก็จะทำให้เราเผยแพร่ข้อมูลสิ่งมีชีวิตในถ้ำให้คนทั่วไปรับรู้ได้ ซึ่งพวกมันอาจเป็นประโยชน์ในอนาคต การที่เราค้นพบพวกมันวันนี้ ดีกว่าปล่อยให้สูญพันธุ์ไป ก่อนที่จะรู้จักมัน
ภาพ : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ทั้งนี้ อ.เรืองฤทธิ์ ทิ้งท้ายว่า เมื่อนักวิจัยค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ ๆ หรือสัตว์หายาก ก็เป็นอีกตัวช่วยให้คนทั่วไปหันมาสนใจและเลือกมาเที่ยวถ้ำกันมากขึ้นทั้งไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการผจญภัย ที่จะได้พบเห็นสัตว์หายากตัวเป็น ๆ ให้ทุกคนได้ไปเห็นสมบัติล้ำค่าในธรรมชาติด้วยตัวเอง