สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรมทั้ง 4 สูตร ถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่กรมการแพทย์กำหนด ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียน จากเคมีบำบัดในผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้าย ผู้ป่วยโรคลมชักในเด็ก รวมทั้งได้ศึกษาการใช้ในกลุ่มโรคต่าง ๆ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ซึ่งสารสกัดกัญชาทั้ง 4 สูตร ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ด้านสมุนไพร ปี 2564 แล้ว
องค์การเภสัชกรรม ได้ขยายกำลังการผลิต วัตถุดิบช่อดอกกัญชา จากการปลูกในรูปแบบ Indoor พื้นที่ 100 ตารางเมตร ใน อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี และการปลูกรูปแบบโรงเรือน Green House รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ปลูกกัญชา ขนาด 1,000 ตารางเมตร ในรูปแบบ Indoor ที่องค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี อีกหนึ่งแห่ง
ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งระบบปลูก คาดว่า จะเริ่มปลูกได้ ประมาณต้นปี 2566 โดยจะมีการใช้ระบบการปลูกและบันทึกข้อมูลแบบอัจฉริยะ ซึ่งจะปลูกกัญชาได้ประมาณ 5,000 ต้นต่อปี เป็นผลผลิตช่อดอกกัญชาจำนวน 1,000 กิโลกรัมต่อปี เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยในคลินิกกัญชานำร่อง 12 เขตสุขภาพ และขยายสู่คลินิกกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ
ส่วนการออกประกาศ เรื่องช่อดอกกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุมนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ระบุว่า ไม่ต้องออกประกาศเพิ่มเติม เพราะร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ใกล้แล้วเสร็จ และคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เป็นสัปดาห์สุดท้ายแล้ว ก่อนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา อีกทั้งขณะนี้ยังไม่มีผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้น