ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มีคำตอบ! สูตร 5+5 กักตัวป่วยโควิดเพียงพอหรือไม่ ?

สังคม
23 ส.ค. 65
09:27
1,159
Logo Thai PBS
มีคำตอบ! สูตร 5+5 กักตัวป่วยโควิดเพียงพอหรือไม่ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มีคำตอบ! สูตรกักตัวโควิดในไทย 5+5 กรณีกลุ่มไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย คือ 5 วันแรกรักษา อีก 5 วันหลังเฝ้าระวังสังเกตอาการ สธ.ยันยึดหลักวิชาการ หลังแพทย์แย้งอาจไม่เพียงพอ และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยรายวัน 1,488 คน เสียชีวิต 26 คน

กรณีนพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุตอนหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายแยกกักตัวอย่างน้อย 5 วันจะทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระ บาดวงกว้าง ย้ำว่า ความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าการแยกตัว 5 วันนั้นไม่เพียงพอ

มีงานวิจัยทั้งจากทีม Massachusetts General Hospital มหาวิทยาลัย Harvard ประเทศสหรัฐอเมริกา และจากทีม Imperial College London สหราชอาณาจักร ที่ยืนยันให้เห็นชัดเจน
ทั้ง 2 งานวิจัยนั้นให้ผลออกมาสอดคล้องกันว่า

5 วัน มีความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อจะยังคงมีเชื้ออยู่ และสามารถแพร่ให้คนรอบข้างได้นั้นสูงถึง 50-75% 7 วัน ความเสี่ยงยังคงสูงถึง 25-35% ส่วน 10 วัน จะมีความเสี่ยงราว 10% หลัง 14 วันจะปลอดภัย

นพ.ธีระ ระบุว่า การปฏิบัติตัวในชีวิตจริงนั้น ทางที่พอจะยืดหยุ่นและมีความเป็นไปได้คือ หากตรวจพบว่าติดเชื้อหรือมีอาการ "ควรแยกตัวอย่างน้อย 7-10 วัน เมื่อครบ 7-10 วันแล้วก่อนออกมาใช้ชีวิต ทำ งาน หรือศึกษาเล่าเรียนจำเป็นต้องแน่ใจว่าผ่าน 2 ข้อต่อไปนี้คือ 1.ไม่มีอาการแล้ว 2.ตรวจ ATK แล้วได้ผลเป็นลบ

 

แม้ออกมาจากการแยกตัวแล้วก็จำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องไป จนครบ 2 สัปดาห์ โดยควรใช้หน้ากาก N95 หรือเทียบเท่า ถ้าต้องทำงานที่ใกล้ชิดผู้คนมาก การออกนโยบาย 5+5 (แยกตัว 5 วัน และป้องกันตัว 5 วัน) ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

แม้จะเข้าใจได้ว่าเอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมวงกว้างนั้นมีสูง ทั้งเรื่องการติดเชื้อ เจ็บป่วย เสียชีวิตโดยรวม และปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID ซึ่งบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิต การทำงาน และภาระค่าใช้จ่าย ทั้งต่อผู้ป่วยครอบครัว และสังคม

สธ.ยันสูตร 5+5 ยึดตามหลักวิชาการ 

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 กลุ่มไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยแบบ 5+5 ว่า การกำหนดให้แยกกักรักษา 5 วัน และเฝ้าระวังสังเกตอาการ และเคร่งครัดมาตรการป้องกันตนเอง คือ สวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างอีก 5 วัน เป็นแนวทางการที่เป็นไปตามสถานการณ์ ถูกต้องตามหลักวิชาการ และผ่านคำปรึกษาของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งใน และนอกกระทรวงสาธารณสุข มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสมดุลของการควบคุมโรคกับการใช้ชีวิตของประชาชน

มีข้อมูลการศึกษาในหลายประเทศ พบว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มป่วย 1-2 วัน และวันเริ่มป่วยจะเป็นระยะที่มีโอกาสแพร่โรคให้ผู้อื่นได้มากที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องแยกกักที่บ้าน เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อในชุมชน

 

ไทยป่วยโควิด-19 รายวัน 1,488 คน เสียชีวิต 26 คน 

นพ.รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การพิจารณาปรับระยะเวลาแยกกักที่บ้านลงนั้น เป็นการตัดสินใจบนข้อมูลข้อเท็จจริงทางวิชาการ ที่พบว่าการแยกกักที่บ้าน 5 วัน หรือ 7 วัน หรือนานกว่านั้น สามารถลดโอกาสเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่อชุมชนไม่แตกต่างกัน

ที่สำคัญคือ คนจำนวนมากฉีดวัคซีนแล้วทำให้มีภูมิคุ้มกันช่วยป้องกันอาการรุนแรงรวมถึงเมื่อทราบว่าตนเองติดเชื้อก็มีความรู้ความเข้าใจ และป้องกันตนเองอย่างเต็มที่

การสังเกตอาการและเข้มมาตรการป้องกันตนเองเพิ่ม 3 วัน หรือ 5 วัน จึงไม่ได้แตกต่างกันมาก เพราะผู้ติดเชื้อจะมีการเฝ้าระวังตนเองไม่ให้แพร่เชื้อต่อ

ส่วนกลุ่มที่เราเป็นห่วง คือกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยหนัก หรือมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อ ได้แก่ กลุ่ม 608 ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิดหรือยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น จึงต้องเน้นให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น หากได้รับวัคซีนเข็มล่าสุดมาแล้วในช่วง 3-4 เดือน เพื่อคงระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19

นอกจากนี้ หากประชาชนยังคงร่วมมือกันสวมหน้ากาก ขณะทำกิจกรรมร่วมกัน ในกลุ่มคนจำนวนมาก หรือสวมหน้ากาก ขณะอยู่ในที่สาธารณะ รวมทั้งผู้ที่มีอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดตามตัว มีการสวมหน้ากาก ขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น จะช่วยลดการแพร่โรคได้

ขณะที่วันนี้ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1,488 คน ผู้ป่วยสะสม 2,413,764 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,394 คน หายป่วยสะสม 2,418,727 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 17,897 คน เสียชีวิต 26 คน เสียชีวิตสะสม 10,383 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 839 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง