ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กฟภ.รับ“ค่าบริการ”เดือนละกว่า600ล้านบาท ไม่ได้ผลักภาระให้ปชช.-ที่ไหนก็เก็บกันทั้งนั้น

สังคม
24 มิ.ย. 58
14:38
1,359
Logo Thai PBS
กฟภ.รับ“ค่าบริการ”เดือนละกว่า600ล้านบาท ไม่ได้ผลักภาระให้ปชช.-ที่ไหนก็เก็บกันทั้งนั้น

ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแจงค่าบริการรายเดือนในบิลค่าไฟแบบใหม่ แค่เพิ่มการระบุรายละเอียดที่มาของค่าไฟใน 1 เดือน ยันโครงสร้างค่าไฟฟ้าและอัตราค่าไฟยังคงเดิม ไม่ได้ผลักภาระทำให้ประชาชนควักจ่ายมากขึ้น ขณะที่ตัวเลขค่าบริการรายเดือนที่กฟภ.เก็บจากประชาชนต่อปีสูงถึงเกือบ 700 ล้านบาท

จากกรณี ประชาชนเกิดความไม่พอใจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ระบุ “ค่าบริการรายเดือน” จำนวน 38.22 บาท ในใบแจ้งชำระค่าไฟ จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย ว่า กฟภ.ผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ทำให้ประชาชนต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น และเป็นการเอาเปรียบประชาชนในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่

วันที่ 24 มิ.ย. 2558 ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ นายสมภพ เต็งทับทิม ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีดังกล่าวว่า ค่าบริการรายเดือนที่ปรากฏอยู่ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า เป็นรูปแบบของการออกบิลค่าไฟแบบใหม่ที่กฟภ.พัฒนาขึ้น และเริ่มใช้ในเดือนนี้ (มิ.ย. 2558) แต่ยังคงโครงสร้างค่าไฟฟ้าและอัตราค่าไฟฟ้าเหมือนเดิม เพียงแต่มีการเพิ่มรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้น และตรวจสอบได้ว่า ค่าไฟฟ้าใน 1 เดือน ที่ประชาชนต้องจ่ายมาจากไหนบ้าง พร้อมทั้งสถิติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 6 เดือน ที่สามารถเทียบเคียงว่ายอดการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าผิดปกติหรือไม่ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540

นายสมภพกล่าวว่า ค่าบริการรายเดือนที่ปรากฏในบิลค่าไฟแบบใหม่นั้น ความจริงมีอยู่ในบิลแบบเก่าโดยรวมอยู่กับค่าไฟฐาน โดยเป็นส่วนหนึ่งของค่าไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วตามอัตราโครงสร้างของค่าไฟฟ้าที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทุกอย่างอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ กฟภ.แบ่งการเสียค่าบริการเป็น 7 ประเภท ซึ่งหากเป็น บ้านที่อยู่อาศัย จะเสียค่าบริการรายเดือนที่ 38.22 บาท แต่หากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน เสียค่าบริการเพียงแค่ 8.19 บาท แต่ถ้าใช้ไฟฟ้าแรงดัน 22-23 กิโลโวลต์ขึ้นไป จ่ายค่าบริการ 312.24 บาท

ส่วนกิจการขนาดเล็ก เสียค่าบริการ 46.16 บาท และถ้าใช้ไฟฟ้าแรงดัน 22-23 กิโลโวลต์ขึ้นไป 312.24 บาท กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจเฉพาะอย่าง เสียค่าบริการรายเดือน 312.24 บาท องค์กรไม่แสวงหากำไร เสียค่าบริการ 20 บาท แต่ถ้าใช้ไฟฟ้าแรงดัน 22-23 กิโลโวลต์ขึ้นไป ต้องจ่าย 312.24 บาท ขณะที่การสูบน้ำเพื่อการเกษตร หากใช้เพียง 100 หน่วยแรก จ่ายค่าบริการรายเดือน 115.16 บาท หากใช้ไฟฟ้าแรงดันต่ำกว่า 22 กิโลโวลต์ และแรงดัน 22-23 กิโลโวลต์ ต้องจ่ายค่าบริการ 228.17 บาท

<"">

“สาเหตุที่ กฟภ.ต้องเรียกเก็บค่าบริการรายเดือน เพราะมีต้นทุนคงที่ที่ต้องจ่ายไม่ว่าจะเป็นการออกไปจดหน่วยใช้ไฟฟ้า การพิมพ์บิล การประมวลผลพิมพ์บิล การออกบิลค่าไฟฟ้า การลงทุนเรื่องพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งแม้จะใช้หรือไม่ใช้ไฟฟ้า กฟภ.ก็ยังมีต้นทุนในส่วนนี้ และหากคิดเทียบเป็นร้อยละ 100 ต้นทุนค่าบริการรายเดือนประกอบด้วย ค่าจดหน่วยใช้ไฟฟ้าร้อยละ 20 ค่าพิมพ์บิลร้อยละ 25 อีกร้อยละ 50 เป็นการจัดการรองรับการชำระบิลของประชาชนในรูปแบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการมาชำระที่สำนักงาน กฟภ. ส่วนร้อยละ 5 ที่เหลือ เป็นค่าเบ็ดเตล็ดอื่นๆ” ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกล่าว

นายสมภพกล่าวอีกว่า ค่าบริการที่เรียกเก็บไม่เกี่ยวกับค่าบำรุงมิเตอร์ไฟฟ้า เช่นที่ประชาชนตั้งข้อสังเกต เพราะกฟภ.เรียกเก็บแค่ครั้งเดียวเมื่อเริ่มติดตั้ง 700 บาท แบ่งเป็นค่าประกันการใช้ไฟฟ้า 300 บาท ส่วนอีก 400 บาท เป็นค่าตรวจสอบดำเนินการและดูแล ซึ่งมิเตอร์ไฟฟ้าถือเป็นสมบัติของ กฟภ.ที่ให้ประชาชนยืมใช้ และหากชำรุดเสียหายตามสภาพก็เปลี่ยนให้ใหม่โดยไม่ต้องเสียเงิน แต่หากเป็นการชำรุดกรณีอื่นๆ ประชาชนต้องจ่ายเงินเอง

“กฟภ.ไม่สามารถปรับลดค่าบริการรายเดือนให้ต่ำลงกว่า 38.22 บาท ได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากปัจจุบันไม่ได้นำต้นทุนที่กฟภ.ต้องแบกภาระมาใส่ไว้ในบิลค่าไฟของประชาชนเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังปรับลดค่าบริการรายเดือนจากเดิมที่เริ่มเก็บในปี 2543 ในอัตรา 40.90 บาท มาเป็น 38.22 บาท ในปี 2554 ซึ่งเป็นอัตราที่เฉลี่ยกับการไฟฟ้านครหลวง แต่หากในอนาคตมีเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุน อาจมีการพิจารณาลดค่าบริการรายเดือนได้ ท้ายนี้ต้องเรียนว่า ทุกบริการสาธารณูปโภคไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ก็ล้วนแต่มีค่าบริการรายเดือนตรงนี้ เพียงแต่ต่างไปตามต้นทุนของแต่ละที่ เช่น ทีโอทีก็มีค่าบริการรายเดือนที่ไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ 100 บาท บวกภาษีอีกร้อยละ 7 เป็นต้น” ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานประจำปีของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประจำปี 2557 ระบุว่า กฟภ.มีรายได้จากค่าไฟฟ้า (ค่าไฟฟ้าฐานรวม Ft) จำนวน 465,167.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จํานวน 30,534.20 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 7.03 และมีจํานวนผู้ใช้ไฟฟ้าใน 74 จังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้น กรุงเทพฯ จ.นนทุบรี และ จ.สมุทรปราการ ในปี 2557 ทั้งสิ้น 17.68 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จํานวน 5.2 แสนราย หรือร้อยละ 3.05 ซึ่งหากคำนวนค่าบริการรายเดือนที่ประชาชนต้องจ่ายให้กฟภ. โดยใช้อัตรา 38.22 บาทเป็นพื้นฐาน เท่ากับว่า กฟภ.จะมีรายได้ในส่วนนี้อย่างต่ำเดือนละ 675,729,600 บาท
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง