ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิจัยเยอรมันใช้เลเซอร์ทำกาแฟสกัดเย็น ลดเวลาเหลือเพียง 3 นาที

Logo Thai PBS
นักวิจัยเยอรมันใช้เลเซอร์ทำกาแฟสกัดเย็น ลดเวลาเหลือเพียง 3 นาที
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยเยอรมันคิดค้นการกาแฟสกัดเย็นด้วยเลเซอร์ ตอบโจทย์คอกาแฟที่ไม่ชอบรอนาน ๆ เพราะวิธีนี้จะช่วยย่นเวลาจาก 8 ชั่วโมงเหลือเพียง 3 นาที

กาแฟสกัดเย็น (Cold Brew) เป็นที่นิยมในหมู่นักดื่มกาแฟ เนื่องจากสามารถชงด้วยน้ำอุณหภูมิห้องแทนน้ำร้อน มีข้อดีคือคงสภาพของกลิ่นและรสชาติของเมล็ดกาแฟได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความขมและเป็นกรดน้อยกว่าการชงกับน้ำร้อน ส่งผลดีกับกระเพาะอาหาร จึงเป็นเครื่องดื่มที่ชื่นชอบของคอกาแฟ แต่การชงกาแฟสกัดเย็นมักใช้ระยะเวลาในการทำค่อนข้างนาน ประมาณ 8 - 24 ชั่วโมง

กลุ่มนักวิจัยสาขาเคมีจากมหาวิทยาลัย Universitat Duisburg Essen (UDE) ประเทศเยอรมนี จึงได้คิดค้นวิธีทำกาแฟสกัดเย็นที่ใช้พลังงานจากแสงเลเซอร์ (Laser) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพหรือทำปฏิกิริยาเคมีกับสารแขวนลอย (Colloid) มาใช้ในการทำกาแฟสกัดเย็น ที่จะช่วยลดระยะเวลาจากหลายชั่วโมงเหลือเพียงไม่กี่นาที แถมยังเพิ่มคุณภาพในการสกัดได้อีกด้วย

นักวิจัยใช้เลเซอร์ Neodymium-doped Yttrium Aluminum Garnet (Nd:YAG) ที่มีส่วนประกอบของแร่อะลูมิเนียมและโกเมน ซึ่งมีความยาวคลื่นแสง 532 นาโนเมตร ให้พลังงาน 125 พิโคจูล (Picojoule) ยิงผ่านขวดโหลที่แช่กาแฟไว้ในน้ำเย็น ด้วยความเร็ว 10 พิโควินาที (Picosecond) และยิงเป็นจังหวะต่อเนื่อง 80,000 ครั้งต่อนาที เป็นเวลาทั้งหมด 3 นาที ก็จะได้กาแฟสกัดเย็นพร้อมเสิร์ฟ

โดยนักวิจัยยังได้เปรียบเทียบกาแฟสกัดเย็นที่ได้ กับกาแฟสกัดเย็นแบบปกติ และกาแฟร้อน พบว่ากาแฟสกัดเย็นด้วยเลเซอร์นั้นให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับกาแฟสกัดเย็นแบบปกติ แต่ดีกว่ากาแฟร้อนอย่างชัดเจน ทั้งในแง่ของปริมาณคาเฟอีน และค่าความเป็นกรด

การทำกาแฟสกัดเย็นด้วยเลเซอร์ จึงตอบโจทย์คอกาแฟที่หลงใหลการดื่มกาแฟสกัดเย็นที่ไม่อยากใช้เวลารอนาน เพราะวิธีการนี้ช่วยลดระยะเวลาลงไปได้มากกว่า 300 เท่า แถมยังได้กาแฟคุณภาพดีเหมือนกับการแช่ไว้ 8 ชั่วโมง แต่วิธีการยิงแสงเลเซอร์เพื่อทำกาแฟสกัดเย็นนั้น ยังอยู่ในช่วงการทดลองและวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยก่อนนำมาใช้ในการผลิตเพื่อบริโภคในเชิงอุตสาหกรรมต่อไป


ที่มาข้อมูลและภาพ: nature, newatlas, slashgear
ที่มาของภาพ: freepik
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง