วันนี้ (30 ส.ค.65) รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์รายการมุมการเมือง ถึงการกรณีการจัดการเลือกตั้งในขณะที่กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ พร้อมมองโอกาสการยุบสภาฯในขณะนี้ว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นหรือไม่
หากกฎหมายลูกยังไม่เสร็จ หากมีการยุบสภาฯ จะทำอย่างไร
สมชัย : ขณะนี้เชื่อว่ายังไม่พร้อม และยังอีกนาน เพราะ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ขณะนี้มีการเข้าชื่อเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัย ขณะที่ พ.ร.ป.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็มีการเข้าชื่อขอให้ศาลวินิจฉัยว่ามีข้อความที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ กระบวนการจะต้องใช้อีกหลายเดือน
การยุบสภาฯไม่ใช่อำนาจของ กกต.ในการตัดสินใจว่า ควรยุบสภาฯหรือไม่ควรยุบสภาฯ กกต.มีหน้าที่อย่างเดียวคือ เมื่อมีการยุบสภาฯ แล้วจะจัดการเลือกตั้งอย่างไร ภายในเวลาไม่น้อยกว่า 40 วัน หรือไม่เกิน 60 วัน
กกต.ควรทำอย่างไร ในขณะนี้
สมชัย : ขณะนี้เป็นเรื่องที่ กกต.ที่ควรปรึกษาหารือกับรัฐบาล ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน แนวทางในการดำเนินการควรเป็นอย่างไร โดยมี 3 แนวทางคือ
1.รัฐบาลออกเป็นพระราชกำหนด ซึ่งรัฐบาลสามารถนำร่างฯพ.ร.ป.ที่ขณะนี้ผ่านวาระที่ 3 ของสภาฯแล้ว โดยสามารถนำร่างกฎหมายมาใช้ได้เลย แม้จะอยู่ในขั้นตอนการวินิจฉัยของศาลก็ตามสามารถทำได้ง่ายที่สุด
2.กรณีไม่สามารถออกเป็น พ.ร.ก.ได้เนื่องจาก การออก พ.ร.ก.จะต้องเป็นเรื่องที่ฉุกเฉินจำเป็น ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นเรื่องฉุกเฉินจำเป็น แม้ว่า รัฐบาลบอกว่า อาจไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญว่า พ.ร.ก.จะต้องออกในเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างไร
ดังนั้น ก็อาจจะให้ กกต.เป็นฝ่ายออกประกาศหรือระเบียบที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งแม้ว่าจะไม่เคยออกมาก่อนก็ตาม แต่ก็เป็นทางออกหรือทางแก้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า กกต.จะกล้าออกระเบียบหรือไม่ เนื่องจากหากออกมาแล้วมีการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แล้วมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น โดยสามารถจัดการเลือกตั้งได้ แต่หลังจัดการเลือกตั้งแล้วอาจมีการฟ้องให้เป็นโมฆะได้
ขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายคงไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายรับผิดชอบ ทางที่ดีที่สุดคือ คุยกันตั้งแต่เริ่มต้นว่า หากเกิดกรณีฉุกเฉินจะทำอย่างไร ระดับเจ้าหน้าที่ประสานคุยกันและถ้าหากเกิดปัญหาจริง ๆ ก็สามารถเดินหน้าต่อได้ทันที ไม่ต้องมานั่งเถียงกัน
กรณีที่ไม่กล้าออกระเบียบ กกต.ซึ่งต้องการจัดการเลือกตั้งภายใต้กฎหมายที่มีการออกมาอย่างเรียบร้อย รวมถึง หาก กกต.ติดขัดอะไรก็สามารถให้สัมภาษณ์อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการให้สัมภาษณ์โดยอ้างแหล่งข่าวระดับสูง ก็อาจทำให้สังคมมองว่า กกต.ไม่พร้อมจัดการเลือกตั้ง หรือไม่อยากจัดการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งอันนี้ค่อนข้างไม่เหมาะสม
หากจัดการเลือกตั้งความเป็นไปได้ของกติกาจะเป็นแบบใด
สมชัย : กรณีจัดการเลือกตั้งที่จะกลับไปใช้กติกาแบบปี 2562 ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมีการแก้ไขแล้ว อย่างน้อย 2 เรื่องคือ 1.บัตรเลือกตั้ง 2. ใบ และ 2.สัดส่วนของ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อจากอัตราส่วน ส.ส.เขตจำนวน 250 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 250 คน เป็น ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน
ดังนั้นการเลือกตั้งต้องอยู่ภายใต้กติกา 2 อย่างนี้ เพียงแต่การคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะใช้สูตรหาร 100 ซึ่งเป็นนับคู่ขนาน หรือ สูตรหาร 500 ในแบบการจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องหาคำตอบว่า แบบใดขัดหรือไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
แนวทางขณะนี้หาร 100 หาก เปลี่ยนกติกาโดยพลิกเป็นหาร 500 จะมีคำถามจากสังคมค่อนข้างเยอะว่า การเปลี่ยนแปลงใช้หลักและเหตุผลอย่างไร ซึ่งขณะนี้่ระบบหาร 100 ผ่านวาระ 3 ของสภาฯไปแล้ว ซึ่งไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนกลับไปเป็นหาร 500 ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก
ฉะนั้น หากออกเป็นพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติของทาง กกต.ที่สอดคล้องกับแนวทางหาร 100 ปัญหาจะน้อยกว่าการพลิกกลับไปใช้สูตรหาร 500 ขณะที่การพลิกกลับไปเป็นการใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ ไม่สามารถทำได้อย่างเด็ดขาดเพราะว่า รัฐธรรมนูญแก้ไขแล้ว
ขณะนี้การยุบสภามีความเป็นไปได้มาก-น้อยแค่ไหน
สมชัย : เหตุผลที่จำเป็นต่อการยุบสภาฯขณะนี้ไม่มีมูลเหตุใด ๆ ไม่มีกฎหมายใดที่รัฐบาลเสนอเข้าสู่สภาฯแล้วถูกคว่ำ 2.ไม่มีความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลว่า พรรคใดจะถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล และ 3.ถ้าสภาฯล่มบ่อยอาจเป็นมูลเหตุที่บอกว่า รัฐสภาฯขาดความจริงใจในการปฏิบัติหน้าที่และสมควรยุบสภาฯ เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนอันนี้เข้าใจได้ แต่ขณะนี้สภาฯก็ทำหน้าที่ตามปกติแล้ว
โดยมูลเหตุเหตุผลในการยุบสภาฯ ขณะนี้ไม่มี แต่อาจมีข้อ 4.คือการยุบสภาฯเพื่อความได้เปรียบทางการเมืองแต่ก็คิดว่ายังไม่ใช่ และขณะนี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่รัฐบาลเลือกตั้งแล้วได้เปรียบหรือจะชนะการเลือกตั้ง
สาเหตุหลักโดยรวม 4 เรื่อง จะไม่นำไปสู่การยุบสภาฯได้ นอกจากการฉวยจังหวะทางการเมืองที่เราไม่รู้ลึก ๆ หรือทราบได้ว่า ใครจับมือกับใคร แต่หากมองผิวเผินในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น
หรือหากรัฐบาลเสนอกฎหมายเข้าสู่สภาฯแล้ว ถ้าฉบับใดฉบับหนึ่งถูกล้มถูกคว่ำ หรือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่สนับสนุนก็อาจเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่การตัดสินใจไปสู่การยุบสภาฯได้
จากนี้ไปกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลอืกตั้งจะใช้เวลานานเท่าใด
สมชัย : อย่างน้อยก็อีก 3 เดือน เนื่องจาก 1.รอศาลฯวินิจฉัย 2.หลังวินิจฉัยจะต้องกลับปรับแก้หรือไม่ หรือ จะตกไปทั้งฉบับก็ยังไม่ทราบ และ 3.หลังทุกอย่างเรียบร้อยมีขั้นตอนการทูลเกล้าฯ ขึ้นไปเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยเชื่อว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจากนี้