ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แอมเนสตี้-ICJ ชี้ "ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย" คืบหน้า แต่ยังมีหลายข้อบกพร่อง

สังคม
31 ส.ค. 65
14:03
368
Logo Thai PBS
แอมเนสตี้-ICJ ชี้ "ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย" คืบหน้า แต่ยังมีหลายข้อบกพร่อง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แอมเนสตี้ - ICJ ชี้การผ่านร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นความคืบหน้า แต่ยังไม่มีบทบัญญัติครบถ้วนตามข้อกำหนดสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี

เนื่องในโอกาสวันผู้สูญหายสากล (30 ส.ค.2565) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เห็นว่ามติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นก้าวสำคัญในการป้องกันและเยียวยาความเสียหายจากอาชญากรรม แต่ทั้ง 2 องค์กร รู้สึกผิดหวังที่ยังคงมีข้อบกพร่องในบางมาตรา ทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์

เอียน เซเดอร์แมน (Ian Seiderman) ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนโยบายของ ICJ เปิดเผยว่า การผ่านร่างกฎหมายเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ประเทศไทยจริงจังกับการดำเนินการตามหน้าที่ในการปฏิรูปกฏหมายเพื่อนำความยุติธรรมมาสู่เหยื่อของอาชญากรรมที่ร้ายแรงและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ ยังไม่มีบทบัญญัติครบถ้วนหรือถูกต้องตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทำให้ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ต้องบังคับใช้พระราชบัญญัติในลักษณะที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (UNCAT) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ICJ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะมากมายเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย

ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของ UNCAT และ ICCPR เมื่อปี 2555 ประเทศไทยยังได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ซึ่งสะท้อนถึงคำมั่นที่จะป้องกันและยับยั้งอาชญากรรมการบังคับให้บุคคลสูญหาย อย่างไรก็ตาม คำมั่นของประเทศไทยที่จะให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคี ICPPED ให้แล้วเสร็จกลับยังไม่ถูกดำเนินการจนกระทั่งปัจจุบัน

ร่างพระราชบัญญัติฯ เป็นผลมาจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สมาชิกรัฐสภา และผู้เชี่ยวชาญ ที่ผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนดความผิดทางอาญาแก่การทรมาน การประติบัติหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการบังคับบุคคลให้สูญหายมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติฯ เริ่มแรกนั้นประกอบด้วยบทบัญญัติที่เป็นปัญหาจำนวนมาก แต่บุคคลเหล่านี้ได้ร่วมกันผลักดันจนเกิดการปรับปรุงข้อบกพร่องที่สำคัญบางประการ

ขณะที่เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า เรายอมรับว่าข้อบกพร่องบางประการที่ได้ระบุในข้อเสนอแนะก่อน ๆ ได้รับการแก้ไขแล้วในร่างพระราชบัญญัติฉบับที่ผ่านมติรับรอง เช่น มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการประฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พร้อมทั้งมีบทบัญญัติที่รับรองให้อาชญากรรมการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง

ในอนาคต ประเทศไทยควรทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไป และดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์

ทั้ง 2 องค์กร ยังเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการตามคำมั่นว่าจะทำการให้สัตยาบันแก่อนุสัญญา ICPPED โดยไม่ล่าช้า พร้อมทั้งแก้ไขข้อบกพร้องในร่างพระราชบัญญัติเพื่อรับประกันการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างครบถ้วน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง