กรณีที่เด็กชายอายุ 13 ปีเสียชีวิตในพื้นที่ จ.สิงห์บุรี หลังเจ้าของสวนล้อมรั้วไฟฟ้า 220 โวลต์ทำให้เด็กถูกไฟดูดตาย แม้เจ้าของสวนจะอ้างว่าเพื่อป้องกันทรัพย์สิน
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการประจำสำนักอัยการสูงสุด ระบุว่า กระแสไฟฟ้า 220 โวลต์ ในทางกฎหมาย เป็นการป้องกันเกินกว่าเหตุ ถือว่าเจตนาให้ตาย
อัยการ จะพิจารณาว่าแจ้งเตือนหรือไม่ เจ้าของอย่างไรก็ผิด ไม่ว่าเด็กที่เข้าไปตั้งใจจะลักขโมยหรือไม่ ถือเป็นการป้องกันเกินกว่าเหตุ จะอ้างว่าป้องกันคนร้ายอย่างเดียวไม่ได้
นายดุสิต สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อธิบายว่า ไม่มีขนาดหรือความแรงที่ชัดเจนว่าขนาดเท่าไหร่ จะทำให้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต แต่การปล่อยแรงดันไฟฟ้าสูงถึง 220 โวลต์ ทำให้เห็นเจตนา หวังผลถึงแก่ความตาย
นักกฎหมาย นักวิชาการ อธิบายตรงกันการล้อมรั้ว ปล่อยแรงดันไฟฟ้า ทำได้แต่ต้องมีอุปกรณ์ตัดไฟ หรือเซฟตี้ เมื่อมีคนมาสัมผัส ไฟจะตัด เพื่อเตือนเจ้าของบ้าน เจ้าของสวนว่ามีคนบุกรุก จึงจะถือเป็นการป้องกันทรัพย์สิน
เปิด "ฎีกา" พิพากษาคดีล้อมรั้วปล่อยไฟฟ้า
ย้อนดูคดีเก่า ลักษณะคล้ายกันเทียบเคียง คำพิพากษาศาลฎีกา คดีนี้อธิบายว่า เจ้าของสวนมีโรงเก็บของ มีรั้วต้นพู่ระหง เป็นแนวเขต และข้างในมีทรัพย์สิน เช่น เครื่องสูบน้ำ ซึ่งเคยถูกขโมยไป จึงขึงลวดปล่อยไฟฟ้า
ทำให้คนที่เข้ามาขโมยของตอนกลางคืนถูกไฟดูดเสียชีวิต ดังนั้นการกระทำของจำเลย จึงเป็นการป้องกันสิทธิของตน โดยชอบด้วยกฎหมาย และพอสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงไม่มีความผิด
แต่ก็มีคำพิพากษาของศาลฎีกาหลายฉบับ ที่วินิจฉัยว่า การปล่อยกระแสไฟฟ้าไปตามรั้ว เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ไม่สามารถอ้างเหตุป้องกันได้ ถือเป็นความผิดข้อหาทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 20 ปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง