วันนี้(2 ก.ย.2565)จากกรณีเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2565 ที่ผ่านมาศาลปกครองกลางได้อ่านผลคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่วินิจัยชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง กรณีที่ประชาชน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงฟ้องศาลขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และ 4 หน่วยงาน ยกเลิกสัญญาการซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีและปฎิบัติตามกฏหมายโดยเฉพาะการรับฟังจากประชาชนอย่างเพียงพอ
โดยส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า "คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีว่าโครงการหรือกิจกรรมเพื่อจัดให้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี ต้องจัดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญเกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่นแสดงความเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาตามมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีอ้างเป็นสำคัญว่าเขื่อนไฟฟ้าไซยะบุรี มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ สร้างบนแม่น้ำโขง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งหากดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง และอ้างว่าหากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กฟผ.) ไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ผู้ฟ้องคดีก็จะไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากการดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีนั้น
กรณีจึงเห็นได้ว่าเหตุที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีจะได้รับความเสียหายร้ายแรงตามคำกล่าวอ้างในคำฟ้องเป็นผลมาจากการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนที่ดำเนินการอยู่นอกเขตอำนาจอธิปไตยหรือสิทธิอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย หาใช่เกิดจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรีแต่อย่างใดไม่ แม้จะฟังได้ว่า กฟผ.ซื้อไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละ 95 จากกำลังผลิตไฟฟ้าของเขื่อน การซื้อไฟฟ้าก็หาใช้เป็นการกระทำที่จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้ฟ้องคดีโดยตรง จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 57
จากกรณีดังกล่าว นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กล่าวว่า หลังจากที่ศาลยกฟ้อง ประเด็นต่อไปคือการศึกษา คำพิพากษา ข้อกฎหมาย และระเบียบต่างๆที่ใช้กันอยู่ ว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง ขบวนการต่อไปคือเราจะต้องพูดคุยแลกเปลี่ยน จัดเวทีเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการด้านกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้อง นี่คือสิ่งที่จะต้องขับเคลื่อนต่อไป การขับเคลื่อนเรื่องการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เราใช้เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ของประเทศไทย ในการฟ้องศาล
"ปัจจุบันการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง มันพัฒนาไปในจุดเดียว คือการพัฒนาด้านเงิน แต่เราจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล คือการมองหลายๆ มิติ อย่างเช่นมุมมองด้านกฎหมาย ก็ต้องให้เกิดความสมดุล ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาจะเห็นว่ากฎหมายต่างๆที่ใช้ในแม่น้ำโขง เพื่อการพัฒนามันยังมีข้อจำกัด หรือจุดบอดอยู่หลายด้านๆ ที่จะทำให้การพัฒนาแม่น้ำโขงเกิดสมดุลได้โดยเฉพาะของการข้ามพรมแดน ปัจจุบันเงิน หรือทุน มันข้ามพรมแดนไปแล้ว แต่ในเรื่อง ธรรมาภิบาล เรื่องกฎหมายต่างๆ มันต้องตามให้ทัน ดังนั้นภาคประชาชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการต้องช่วยกันขับเคลื่อนทางกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง" นายนิวัฒน์ กล่าว