กรณีกองทัพเรือ จับเรือประมงสัญชาติเวียดนาม เข้ามาคราดปลิง ทะเลในเขตน่านน้ำไทย แถวพื้นที่ จ.สงขลา ภายในเรือมีลูกเรือ 5 คน และถังขนาดใหญ่หลายใบ มีปลิงทะเลอัดแน่นทั้งแบบแช่น้ำ และแบบใส่เกลือ
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่า ปลิงทะเล เป็นสัตว์น้ำที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทำให้ชาวประมงยังจับปลิงทะเลได้โดยไม่มีความผิด ยกเว้นไปจับในเขตอนุรักษ์ รวมทั้งกรณีที่เรือประมงจากประเทศอื่นเข้ามาจับในน่านไทย
ปลิงทะเลมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เพราะทำหน้าที่เป็นเทศบาลประจำท้องทะเล
ภาพ : ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง
ศักดิ์อนันต์ ขยายความต่อว่า ปลิงทะเล จะกินแพลงก์ตอน ตะกอนดิน เศษซากสารอินทรี ในแนวปะการัง ถ้าไม่มีปลิงมาคอยกำจัด จะเป็นแหล่งแบคทีเรีย ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลง ซึ่งสังเกตว่าตะกอนดินที่เคยขาวเป็นทราย จะมีสภาพเป็นตะกอนดินสีดำ หรือแนวปะการังก็จะเสื่อมโทรมลง
ถ้านำปลิงออกไปเยอะ จะทำให้วงจรความสะอาดในระบบนิเวศทางทะเลเสียหาย
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)
ประชากรลด 50% บางแห่งเจอตัวน้อยลง
นักวิชาการ บอกว่า ตัวอย่างที่พบการลดลงของปลิงทะเลชัดเจนที่สุด คือแถวหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา เมื่อ 20-30 ปีก่อน ถ้าไปถึงหน้าหาด แค่มองลงไปผิวน้ำทะเล จะเห็นปลิงขาว ปลิงดำตัวใหญ่ๆ เยอะมากเต็มพื้นทราย แต่ตอนนี้ถือว่าน้อยลงกว่า 50%
รวมทั้ง จ.สตูล ที่มีธุรกิจจับปลิงทะเลมาต้ม และขูดหนัง เอาพวกหนามออก และน้ำต้มปลิงทะเล จะส่งขายมาเลเซียทำยา เพราะมีคุณสมบัติในการรักษาบาดแผลให้สมานได้ ส่วนตัวปลิง จะนำไปตากแห้ง ปิ้งหรือรมควัน และส่งขายเมืองจีน
ประชากรปลิงทะเล 50% ลดลงในช่วง 20-30 ปี หลายพื้นที่ไม่ค่อยเจอ เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ เคยมีปลิงเต็มหน้าหาด ตอนนี้เหลือน้อยมาก และแนวปะการังบางพื้นที่ลดมากกว่า 70% ระยะยาวจะมีปัญหาหนัก
กองเรือยุทธการ Royal Thai Fleet
นายศักดิ์อนันต์ กล่าวอีกว่า การลดลงของปลิงทะเล มาจากการถูกจับไปขาย กลุ่มประเทศที่นิยมคือ จีน เวียดนาม ในอดีตราคาเพียงแค่ 200-300 บาทที่เป็นตัวปลิงสด และถ้าราคาตากแห้ง น่าจะหลายพันบาท ราคาขึ้นกับชนิดของปลิง ปลิงดำจะถูกกว่าปลิงขาว
ทั้งนี้แม้ว่าปลิงทะเล จะสามารถงอกส่วนที่ขาดเป็น 2 ท่อนได้ภายในระยะเวลา 2 เดือน แต่ก็ไม่ทำให้ประชากรเพิ่มได้เร็ว
น่าเป็นห่วงในเชิงนิเวศทางทะเล ตอนนี้เรายังไม่ไหวตัวว่าเกิดอะไรขึ้นใต้ทะเล บางแห่งตะกอนดินใต้ท้องทะเลเคยขาวสะอาด และกลายเป็นตะกอนสีดำ
ราคาจูงใจตากแห้ง 3,000-7,000 บาท
ข้อมูลนี้ สอดคล้องกับข้อมูลปี 2564 กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง รายงานว่า มีการจับปลิงทะเลขึ้นมาใช้ประโยชน์ในปริมาณมาก ทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ
โดยเฉพาะปลิงทะเลชนิด Holothuria scabra ที่มีความต้องการของตลาดสูง ราคาขายปลิงทะเลสด จากชาวประมงน้ำหนัก 400-500 กรัมต่อตัว ราคา 500 บาทต่อกิโลกรัม
ปลิงทะเลตากแห้ง ราคา 3,000-7,000 บาทต่อกิโลกรัม จากการที่เป็นสัตว์น้ำมีมูลค่าสูง ทําให้ถูกจับจํานวนมากจนไม่สามารถเกิดทดแทนตามธรรมชาติได้ทัน
สรรพคุณอาหาร-ยาจากปลิงทะเล
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรมสัตว์น้ำชายฝั่ง (สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สงขลา) กรมประมง เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวปลิงทะเลของไทย ระบุว่า คุณค่าทางอาหารของปลิงทะเล มีโปรตีนประมาณ 10-12% ความชื้น 70-80% ไขมัน 0.002-0.04%
นอกจากนี้ เนื้อปลิงทะเล ยังมีสารมิวโคโปรตีนที่มี Chondroitin sulfurie acid คาดว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ โดยการช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดี
จากการศึกษา ปลิงทะเลที่ต้มแล้ว วางขายในตลาดสดตามจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น จ.ภูเก็ต ส่วนใหญ่นำไปประกอบอาหาร ประเภทซุป และยำในภัตคารอาหารจีน ใน จ.กระบี่
ปลิงขาวมีราคา กิโลกรัมละประมาณ 270 บาท ส่วนชนิดอื่นมีราคากิโลกรัมละประมาณ 90 บาท ส่วนน้ำในตัวปลิงทะเล ซึ่งมักนำไปเป็นส่วนผสมของยา จะขายในราคา 100 บาท ต่อ 1 แกลลอน (20 ลิตร) ที่หมู่เกาะสุรินทร์ ชาวเลจะนำปลิงตากแห้งมาขายที่ฝั่งจ.ระนอง ในราคากิโลกรัมละ 200-400 บาท
กองเรือยุทธการ Royal Thai Fleet
ขณะที่ปลิงทะเลตากแห้ง นับว่าเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อในประเทศทางตะวันออก โดยเฉพาะทางหมู่เกาะทะเลใต้ (South Pacific) ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้นิยมกินปลิงทะเลกันมาก โดยที่นิยมกินมี 2 ปลิงขาว ปลิงดำ ส่วนที่มีขายตามท้องตลาด ปลิงทะเลตากแห้ง คือ Holuthuria scabra
อย่างไรก็ตาม ปลิงทะเลในธรรมชาติที่ลดลงอย่างมาก กรมประมง ได้เริ่มศึกษาสถานภาพปลิงทะเลในไทย และอนุกรมวิธาน ชีววิทยา และนิเวศวิทยา เพื่อที่จะประเมินทรัพยากรปลิงทะเล และวางแผนฟื้นฟูอนุรักษ์
ฃอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง