จากการตรวจสอบมีคำยืนยันจาก ศาลรัฐธรรมนูญ ว่า 8 ก.ย.นี้ เป็นการนัดประชุม "กำหนดและลำดับประเด็นที่จะพิจารณาวินิจฉัย" รวมถึงปรึกษาหารือว่า พยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัย หรือ ต้องเปิดไต่สวนเพิ่มเติม
นอกจากประเด็นที่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันการประชุมนัดพิเศษ 8 ก.ย.นี้แล้ว ยังกล่าวย้ำว่า เป็นการประชุมเพื่อรับทราบคำชี้แจงของแต่ละฝ่าย ก่อนจะแถลงร่วมกัน "ตามวิธีพิจารณา" ที่จะกำหนดประเด็นและลำดับประเด็นที่จะวินิจฉัย
รวมถึงการพิจารณาว่าต้องเปิดไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่ ดังนั้น ผลการประชุม คือ การออกคำสั่ง "นัดฟังคำวินิจฉัย" เท่านั้น
จากเอกสารที่ถูกส่งต่อกันในไลน์กลุ่มนักข่าว ทั้งทำเนียบฯ และรัฐสภาฯ พบว่า ลงนามโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 แต่ทั้งนายมีชัย และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ยืนยันว่า เป็นเอกสารชี้แจงจริงหรือไม่ หากใจความสรุปว่า
"รัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้ 6 เม.ย.2560 ไม่อาจมีผลไปถึงการใดก่อนหน้าได้ บทบัญญัติเกี่ยวกับ ครม.มุ่งหมายจะใช้กับ ครม.ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อการบริหารไม่อาจว่างเว้นได้
จึงมีบทเฉพาะกาล ที่ผ่อนปรนให้ ครม.โดยชี้ว่า มาตรา 158 วรรค 4 ให้เริ่มนับตั้งแต่ 6 เม.ย.2560 พร้อมชี้ว่า เอกสารการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 เป็นการจดรายงานไม่ครบถ้วน และรายงานสรุป ยังไม่ได้ลงนามรับรอง หากมีผู้นำไปใช้ ให้รับผิดชอบเอง"
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ยอมรับว่า เป็นไปได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญว่า จะพิจารณาลงมติชี้ขาดในวันที่ 8 ก.ย.นี้หรือไม่ ก่อนจะย้ำว่า คำพูดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ชัดเจนที่สุดแล้ว
ทั้งกรณีการปรับ ครม.และการคาดการณ์ถึงสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่ได้แผนรองรับใด ๆ ขอรอคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญก่อน
ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เชื่อว่า คำวินิจฉัย "วาระ 8 ปี" จะไม่กระทบต่อรัฐบาล และนอกจากจะต้องไม่ก้าวล่วงต่อศาลแล้ว ยังต้องเคารพกฎหมายและรัฐธรรมนูญด้วย ด้านนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ยังคงย้ำหลักการตามคำร้องว่า พลเอก ประยุทธ์ นั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปีแล้ว การตีความต้องเคารพรัฐธรรมนูญและพระราชอำนาจด้วย