เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2565 พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงกรณีตรวจพบผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเลมากกว่า 50 คน โดยจุดแรกเวลา 07.30 น. ชาวบ้านพบกลุ่มคน 10 คน ลอยคออยู่ในทะเลบริเวณระหว่างเกาะบุโหลนไม้ไผ่ กับเกาะเขาใหญ่ จ.สตูล จึงช่วยเหลือนำตัวขึ้นฝั่งที่แหลมเต๊ะปัน ใกล้ท่าเรือปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ก่อนจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้าควบคุมตัวและสอบสวน
อ่านข่าว : จนท.รุดช่วยโรฮิงญาลอยคอกลางทะเลสตูล ไม่เชื่อมีแค่ 10 คน
ผู้ประสบเหตุให้การเบื้องต้นว่า เดินทางมาจากบังกลาเทศ และต้องการจะเดินทางไปประเทศที่ 3 โดยทั้งหมดเดินทางมากับเรือใหญ่ จนเมื่อถึงบริเวณระหว่างเกาะบุโลนดอน กับเกาะเขาใหญ่ จ.สตูล ซึ่งเป็นช่วงกลางคืน มีคนบนเรือสั่งให้กระโดดลงจากเรือใหญ่ที่พามา และลอยคออยู่กลางทะเลโดยเกาะทุ่นโฟม จนกระทั่งมีเรือประมงพื้นบ้านของไทยมาพบและให้การช่วยเหลือ
ทันทีที่ได้รับรายงาน ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 ได้สั่งการให้เรือ ต.996 และเรือยนต์เร็วของหน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศและรักษาฝั่งที่ 452 ออกลาดตระเวนค้นหาบริเวณดังกล่าว รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อค้นหากลุ่มคนที่อาจลอยคอลงเหลืออยู่ในทะเล
ต่อมาเวลา 10.30 น. เครือข่ายเรือประมงจังหวัดสตูล แจ้งว่า พบกลุ่มคนประมาณ 30-40 คน อยู่บริเวณเกาะกล้วยในพื้นที่ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองชาวเมียนมาอีก 41 คน แยกเป็นหญิง 8 คน ชาย 31 คน และเด็ก 2 คน อยู่ในสภาพอิดโรย จึงได้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและนำตัวทั้งหมดมาสอบสวน
อ่านข่าว : พบอีก 41 โรฮิงญา สภาพหิวโซ
จากนั้นเวลา 12.00 น. ตำรวจน้ำกันตัง จ.ตรัง แจ้งว่า พบเรือประมง 1 ลำ วิ่งเข้าร่องแม่น้ำกันตัง จากการตรวจสอบพบว่ามีคนไทย 1 คน และชาวเมียนมา 6 คน โดยให้การว่าได้บรรทุกคนมา 60 คน และเกิดน้ำมันหมด จึงได้วิ่งเข้ามาที่ร่องแม่น้ำกันตัง คาดว่าจะเป็นเรือลำที่ลำเลียงกลุ่มคนที่พบบริเวณระหว่างเกาะบุโหลนไม้ไผ่ กับเกาะเขาใหญ่ และเกาะกล้วย ในพื้นที่ จ.สตูล ซึ่งต้องรอให้ตำรวจสอบสวนว่าทั้ง 3 กลุ่มนี้มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่
โฆษกกองทัพเรือ ย้ำว่า กองทัพเรือติดตามสถานการณ์ของผู้หลบหนีเข้าเมืองทางทะเล โดยเฉพาะพื้นที่ทะเลอันดามันอย่างต่อเนื่อง พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดเรือและอากาศยานลาดตระเวนเฝ้าตรวจ โดยเฉพาะบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา, เกาะหลีเป๊ะและเกาะตะรุเตา จ.สตูล เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นเกาะแก่ง และมีเรือประมงพาณิชย์ทำการประมงเป็นจำนวนมาก ทำให้ยากต่อการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มความเข้มงวดจัดกำลังลาดตระเวนทางทะเลและทางอากาศ เฝ้าตรวจพื้นที่ตามเกาะ และจัดเรือรับสถานการณ์เฝ้าระวังในพื้นที่บริเวณแนวชายแดนทางทะเลไทย-มาเลเซีย โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยง และคาดว่าเรือของกลุ่มผู้หลบหนีจะเดินทางผ่านไปยังประเทศเป้าหมาย รวมถึงแจ้งให้กลุ่มเรือประมงในพื้นที่ช่วยกันเฝ้าระวัง