ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สธ.จัดหา "ไฟเซอร์ฝาแดง" 3 ล้านโดส ฉีดกลุ่มเด็กเล็ก 6 เดือน

สังคม
7 ก.ย. 65
15:43
589
Logo Thai PBS
สธ.จัดหา "ไฟเซอร์ฝาแดง" 3 ล้านโดส ฉีดกลุ่มเด็กเล็ก 6 เดือน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สธ.-ไฟเซอร์ และอินโดไชน่า เตรียมลงนามสัญญาจัดหาวัคซีน "ไฟเซอร์ฝาสีแดง" 3 ล้านโดส คาดส่งมอบต.ค.นี้ หลังอย.อนุมัติให้ฉีดในเด็กอายุ 6 เดือนถึงอายุน้อยกว่า 5 ปีได้แล้ว "อนุทิน"ยันปรับ "โควิด" เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง 1 ต.ค.นี้

วันนี้ (7 ก.ย.2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นประธานในการเตรียมลงนามสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด-19 (ไฟเซอร์) ฝาสีแดง จำนวน 3 ล้านโดส สำหรับฉีดเด็กอายุ 6 เดือนถึงอายุน้อยกว่า 5 ปี ระหว่างนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้จัดการใหญ่ บริษัทไฟเซอร์ประเทศไทย และอินโดไชน่า

นายอนุทิน กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กเล็กที่จัดหา 3 ล้านโดสนั้น บริษัทจะเริ่มทยอยส่งมอบให้ประเทศไทยได้ตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 ซึ่งถือว่าเร็วเป็นพิเศษ เนื่องจากกรมควบคุมโรค มีสัญญาการสั่งซื้อที่ได้รับการอนุมัติจากครม. อยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มชนิดของวัคซีนที่มีการผลิตเพื่อฉีดเด็กอายุ 6 เดือนถึงอายุน้อยกว่า 5 ปีโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ กลุ่มเด็กเล็ก มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิดสูง เนื่องจากเป็นวัยที่ยังไม่สามารถดูแลป้องกันตนเองได้ การที่เด็กได้รับวัคซีน จะช่วยลดโอกาสของการเจ็บป่วยและลดการแพร่เชื้อไปยังผู้สูงอายุในครอบครัว

"อนุทิน" ยัน 1 ต.ค.ปรับ "โควิด"สู่โรคเฝ้าระวัง 

นายอนุทิน กล่าวว่า ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง วันที่ 1 ต.ค.นี้ จะมีผู้บริหารเข้ารับตำแหน่งใหม่ทั้งปลัด รองปลัด และอธิบดี ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

ยืนยันว่าการดำเนินงานต่างๆ จะไม่มีรอยต่อ ไม่มีผลกระทบต่อการบริการประชาชน ระบบการดูแลต่างๆ มีความพร้อม 

ส่วนแนวทางบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ในปี 2566 ต้องรอการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ว่าจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นหรือไม่ ต้องเน้นกลุ่มเสี่ยงใด จำนวนเท่าใด ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน

 

ส่วนเรื่องยาต้านไวรัส สธ.มีการติดตามการใช้งาน และสำรองไว้อย่างเหมาะสม ซึ่งผู้ป่วยทุกรายไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และหากแพทย์เห็นว่าไม่จำเป็นต้องรับยาก็ไม่ควรไปซื้อมากินเอง โดยการซื้อยาต้านไวรัสในร้านขายยาต้องใช้ใบสั่งแพทย์ เนื่องจากยังเป็นยาที่อนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน 

ขณะที่ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) 1,605 คน ผู้ป่วยสะสม 2,439,134 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) หายป่วยกลับบ้าน 1,618 คน หายป่วยสะสม 2,447,149 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565)ผู้ป่วยกำลังรักษา 14,462 คน เสียชีวิต 20 คนจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ
รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 695 คน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย.อนุมัติฉีด "ไฟเซอร์" ฝาม่วงแดง ในกลุ่มเด็ก 6 เดือน - 5 ปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง