เขาแนะนำตัวเองว่า ผมชื่อ ต้น อาทิตย์ ครับ เป็นเจ้าหน้าที่ชุดที่ 1 ขอรบกวนหัวหน้าไปดูยาย ไม่สบายหนัก เป็นไข้และจะชัก
ประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปัจจุบันไปช่วยราชการที่กรมป่าไม้ เล่าถึงความประทับใจและครั้งแรกที่ได้รู้จักกับ "ต้น อาทิตย์" เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทับลาน ที่เพิ่งถูกช้างป่าละมุด ทำร้ายจนเสียชีวิตในภารกิจสุดท้าย ขณะผลักดันคืนป่า
ในฐานะอดีตผู้บังคับบัญชาของต้นมาเกือบ 5 ปี ยังจำเรื่องราวแรกที่ได้ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานฯ ทับลาน เมื่อปี 2559 ขณะนั้นต้นลาดตระเวนอยู่ในพื้นที่ป่า และเมื่อพบสัญญาณบริเวณยอดเขา ต้นได้โทรศัพท์มาหา เพื่อขอให้ช่วยไปดูยายที่ป่วยหนัก
ประวัติศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากรับโทรศัพท์ ได้ขับรถไปดูยายของต้น พบสภาพที่พักใช้ป้ายไวนิล พลาสติกทำหลังคา ใช้เศษไม้ทำเป็นเพิงพัก ยิ่งเข้าไปในบ้านก็รู้สึกหดหู่ในความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งยกแคร่เป็นที่นอนเรียงกัน 3 คน คือ ต้น แม่ และยายของเขา
จากนั้นได้สั่งให้ทีมเจ้าหน้าที่รีบพายายของต้นส่งโรงพยาบาล หลังจากนั้นเป็นโจทย์กลับมาคิดว่า ต้องทำอะไรซักอย่างให้เจ้าหน้าที่ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นงานแรก ๆ ของตนเองในทับลาน
ตั้งมั่นว่า ต้องขอบ้านให้เจ้าหน้าที่ให้ได้ จากนั้นได้เข้าไปในกรมอุทยานฯ เพื่อเข้าพบนายธัญญา เนติธรรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ในขณะนั้น ขออนุมัติงบฯ สร้างที่พักเจ้าหน้าที่โดยด่วน
ต่อมาได้รับอนุมัติงบฯกว่า 10 ล้านบาท สร้างบ้านพัก อาคาร และแฟลตให้เจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ทับลาน แล้วเสร็จในปี 2560 เพราะบ้านพักหลายหลังชำรุดและทรุดโทรม จึงอยากเสนอให้ตั้งชื่ออาคาร หรือกลุ่มบ้านพักในอุทยานฯ ทับลาน เพื่อระลึกถึงต้น
นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ยังเล่าว่า ครอบครัวของต้นชอบปลูกผักแจกจ่ายเพื่อนบ้านและสายตรวจ จึงเลือกห้องริมสุดให้ต้น เพื่อให้ใช้ประโยชน์พื้นที่มากหน่อย โดยจะหาแนวทางช่วยเหลือครอบครัวของต้นต่อไป
นับถือใจ "ต้น" เสี่ยงชีวิตพิทักษ์ป่า
อดีตหัวหน้าอุทยานฯ ทับลาน เล่าว่า ต้นทำงานที่อุทยานแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2553 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้รับบรรจุในโควตาของเจ้าหน้าที่ที่้ได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน ในเหตุปะทะกับกลุ่มมอดไม้ที่เข้ามาตัดไม้พยุง ทำให้ต้นถูกปืนลูกซองยิงที่แขน ได้รับบาดเจ็บเมื่อปี 2558
เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความเสี่ยง โดยเฉพาะกรณีของต้นเคยถูกยิงได้รับบาดเจ็บ หากใจไม่รักคงไม่ทำต่อ เพราะไม่คุ้ม เงินเดือนแทบไม่พอใช้ 8,000-9,000 บาท
ถ้าเขาใจไม่รักก็ไม่อยู่แล้ว ลำบากต้องเดินป่า เสี่ยงชีวิต เขาอยู่ต่อหลังถูกดักซุ่มยิง ก็ต้องนับถือใจเขา
ชงแนวทางดึง "ช้าง" เข้าป่า
ประวัติศาสตร์ กล่าวว่า แม้เจ้าหน้าที่จะระมัดระวังเพียงใด แต่ก็มีโอพลาดสูง เพราะไม่รู้ว่าช้างป่าจะหงุดหงิดในช่วงเวลาใด โดยเฉพาะ "เจ้าละมุด" หรืออีกชื่อคือ "สีดอดื้อ" เคยมีความพยายามผลักดันเข้าป่ามานาน 2 ปี แต่สีดอเป็นช้างน่าสงสาร เพราะถูกขับไล่จากช้างโขลง
เจ้าละมุดหลบเข้าป่าไปได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ก็ออกมานอกพื้นที่ ช้างอาจมีประสบการณ์ไม่ดี เพราะถูกขับออกจากโขลง ถูกกลั่นแกล้ง และทำร้าย สังเกตจากปลายหางกุดจากการถูกงับหาง ก่อนหน้านี้จึงพยายามใช้จุดนี้อธิบายกับชาวบ้านว่าอย่าไปโกรธช้าง เจ้าหน้าที่จะช่วยเหลือกันผลักดัน
ประกอบกับสร้างเพิ่มแหล่งอาหาร เพราะถึงแม้ฝนตกปริมาณมาก แต่พืชอาหารอาจไม่เพียงพอ สิ่งที่ขึ้นมามากกลายเป็นพืชหนาม ไม่ใช่แหล่งอาหาร ซึ่งการแก้ปัญหาจะต้องหาแนวทางดึงดูดช้างให้อยู่ในป่า
นอกจากนี้ เสนอให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย ระดมแนวทางแก้ปัญหาช้างป่าเพื่อดึงดูดสัตว์ให้อยู่ในป่า ป้องกันออกมาหากินในชุมชนรอบแนวเขตป่า และทำลายพืชผลทางการเกษตร
เพื่อน-คนทำงานอนุรักษ์ อาลัย "ต้น"
การเสียชีวิตของต้น ถือเป็นความสูญเสียบุคลากรคนสำคัญของป่าทับลาน ผู้ที่รู้จักและเคยร่วมงานกับต้นต่างเข้ามาแสดงความเสียใจ โดยเพจเฟซบุ๊ก "อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park" โพสต์ข้อความไว้อาลัย "อาทิตย์ ผิวงาม" หรือต้น เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่เสียชีวิตจากการถูกช้างป่า "ละมุด" ทำร้ายขณะปฏิบัติหน้าที่ผลักดันช้าง ว่า
"RIP ขอไว้อาลัยแด่วีรชนผู้กล้า ขอให้หลับให้สบาย นายอาทิตย์ ผิวงาม จนท.อุทยานแห่งชาติทับลาน พวกเราขอสัญญาว่าจะสู้เพื่อรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้คงอยู่ตลอดไป เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของวีรชนผู้กล้าต่อไป #อุทยานแห่งชาติทับลาน"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชาวบ้านผวา! "เจ้าละมุด" ทำร้ายพิทักษ์ป่าทับลานเสียชีวิต
ชาวบ้านกังวล "ช้างละมุด" หนีป่าทับลานแอบแช่น้ำสวนผลไม้