โรคนี้เป็นโรคที่ยากจะอธิบาย เหมือนร่างกายอยู่ที่นี่ แต่จิตใจอยู่ที่ไหนไม่รู้
บางประโยคจากการเปิดเผยเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมที่ อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อับดุลละห์ อะห์หมัด บาดาวี ปัจจุบันอายุ 83 ปี กำลังเผชิญอยู่
ไครี จามาลุคดิน รัฐมนตรีสาธารณสุขของมาเลเซีย หรืออีกสถานะคือลูกเขยของอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย คนนี้ เป็นผู้เปิดเผยสิ่งที่ครอบครัวของเขากำลังรับมืออยู่
รัฐมนตรีสาธารณสุข เปิดเผยว่า อับดุลละห์เริ่มแสดงภาวะสมองเสื่อมหลังจากลงจากตำแหน่งในปี 2552 ทุกวันนี้เขาต้องนั่งรถเข็น และไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ
การตัดสินใจเปิดเผยอาการป่วยของอดีตผู้นำมาเลเซียครั้งนี้ ทางครอบครัวทำ เพื่อต้องการให้คนเข้าใจ และตระหนักถึงความน่ากลัวของภาวะสมองเสื่อมให้มากขึ้น
ไทยพีบีเอสออนไลน์ได้หาข้อมูลเกี่ยวกับสมองเสื่อม เพื่อสร้างความเข้าใจและวิธีรับมือเพิ่มเติม
สมองเสื่อมหรือภาวะสมองเสื่อม (Dementia) คือกลุ่มอาการที่เกิดจากระบบการทำงานของสมองที่ค่อย ๆ เสื่อมลงหรือมีความบกพร่อง ถือเป็นกลุ่มอาการผิดปกติของการทำงานทางสมองขั้นสูง ผู้ป่วยจะเริ่มมีความบกพร่องในด้านความทรงจำ การใช้ความคิด การตัดสินใจ ความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ การเรียนรู้ การใช้ภาษา หรือการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ เป็นต้น จนทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันได้
สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม
เกิดจากความเสียหายหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสมอง โดยเฉพาะเซลล์ประสาทในสมอง โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด และภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือด เป็นสาเหตุรองลงมา
นอกจากนั้น การประสบอุบัติเหตุบริเวณเดิมที่ศีรษะซ้ำๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของภาวะนี้เช่นกัน
ส่วนใหญ่แล้วภาวะสมองเสื่อมจะไม่สามารถรักษาให้กลับคืนเป็นปกติได้
อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม
ระยะแรกจะเริ่มมีอาการหลงลืม การตัดสินใจในการทำงานลดลง แต่หากเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการถามซ้ำๆ พูดคุยในเรื่องที่ได้พูดไปแล้ว จำชื่อคนใกล้ชิด ครอบครัว หรือสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ หรือแม้กระทั่งเลิกสนใจในสิ่งที่ตนเองเคยชอบหรือให้ความสำคัญ
ผู้ป่วยบางคนอาจจะไม่สามารถอ่านหรือเขียนหนังสือ เห็นภาพหลอน และขาดความยั้งคิดทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาดตามมา ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดต่อตัวผู้ป่วยเอง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม
- อายุ มีความเสี่ยงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นสมองเสื่อม
- โรคดาวน์ซินโดรม ก็สามารถพัฒนาเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้
- พันธุกรรม แพทย์มักจะพบผู้ป่วยสมองเสื่อมประเภทนี้ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี
- ปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคซึมเศร้า การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จัด
การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม
จะอาศัยการตรวจร่างกายและตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย หากแพทย์สงสัยว่ามีภาวะสมองเสื่อม แพทย์จะตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ ตรวจสอบระบบประสาท ตรวจสอบสุขภาพทางจิต หรือการตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจเลือดและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การรักษาภาวะสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่แพทย์จะช่วยไม่ให้อาการแย่ลงและประคองให้ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เช่น การรักษาด้วยยา การบำบัด และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต
การป้องกันสมองเสื่อม
โดยส่วนใหญ่ ภาวะสมองเสื่อมจะป้องกันได้ยาก เพราะมักไม่ทราบสาเหตุ แต่เราสามารถลดโอกาสการเป็นภาวะสมองเสื่อมลงได้ โดยการดูแลสุขภาพโดยรวมให้มีความสมบูรณ์ดี ซึ่งมีแนวทางง่าย ๆ ดังนี้
1. เลิกบุหรี่ ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมได้
2. รับประทานอาหารสุขภาพ จะช่วยให้ร่างกายมีความแข็งแรงอยู่เสมอ
3. ได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ จากการวิจัยพบว่า ผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำจะมีโอกาสที่เกิดโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อมได้
4. น้ำหนักตัว การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมรวมไปถึงโรคอื่นๆ ได้
5. ทำอารมณ์ให้แจ่มใสและเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ เพื่อเป็นการฝึกสมอง
6. รักษาระดับความดันโลหิต ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ก็จะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดกลุ่มโรคของภาวะสมองเสื่อมบางชนิดได้
7. เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการออกกำลังกาย จะช่วยชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อมพร้อมทั้งลดอาการบางอย่างที่เกิดจากสมองเสื่อมได้
บุคคลที่มีชื่อเสียงของโลกที่ประสบกับโรคนี้
1.Ronald Reagan ประธานาธิบดีคนที่ 40 ของสหรัฐอเมริกา
2.Robin Williams เจ้าของรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายจากภาพยนตร์เรื่อง Good will hunting
3.Bruce Willis นักแสดงชายชาวอเมริกันชื่อดัง ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ป่วยด้วยโรค Aphasia ซึ่งเป็น 1 ในกลุ่มอาการสมองเสื่อม
ที่มา : อาการเตือน ภาวะสมองเสื่อม | โรงพยาบาลสุขุมวิท (sukumvithospital.com)
สมองเสื่อม - อาการ, สาเหตุ, การรักษา - พบแพทย์ (pobpad.com)
https://readementia.com/famous-people-with-dementia