วันนี้ (21 ก.ย.2565) นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้สัมภาษณ์ในรายการ "มุมการเมือง" ทางไทยพีบีเอส โดยกล่าวว่า
การเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ยุคของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ และ ส.ส.ภาคใต้หลายสมัย คนในพื้นที่ให้ค่าเรื่องของภาพลักษณ์ ผู้ที่มีการศึกษา และผู้ไม่ใช้เงินในการเลือกตั้ง
เลือกตั้งใช้เงิน 3 ด้าน
นายเอกรินทร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า อีกด้านก็พบว่า การใช้เงินในการทำงานทางการเมืองก็มีหลายแบบ เช่น 1.การดูแลทีมงานในการลงพื้นที่ 2.การไม่ใช้เงินแต่เป็นเรื่องของสัญญาในการนำโครงการพัฒนาต่าง ๆ ลงในพื้นที่
3.เกือบทุกพรรคการเมืองจะใช้เงินในการทำงานการเมือง ขึ้นอยู่ว่าจะมาก-น้อย เท่านั้น โดยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2562 ได้ทำวิจัยและพบว่า มีการใช้เงินมากและสูงที่สุด
นายเอกรินทร์ ยังกล่าวว่า กรณีการซื้อเสียงในพื้นที่ภาคใต้ปฏิเสธไม่ได้ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐาน แต่ก็เป็นที่รู้กันในพื้นที่ว่าต้องมีติดไม้ติดมือ แต่อาจไม่ได้บอกว่าเป็นเงินซื้อเสียงตรง ๆ แต่บอกว่าเป็นเงินน้ำใจ เป็นเงินช่วยเหลือในการที่จะไปเลือกตั้ง คิดว่าในพื้นที่ทราบกันดี
ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะยังมีการใช้เงิน แต่ผู้ที่มีเงินเยอะก็ไม่การันตีว่าจะได้รับการเข้าสู่สภาฯ การใช้เงินเป็นเพียงส่วนหนึ่ง
ในขณะนี้อยู่ในระยะเวลาเปลี่ยนผ่านและตัวชี้วัดที่สำคัญคือผู้ที่ทำงานพื้นที่ต่อเนื่องที่จะมีผลต่อ ส.ส.เขต และนโยบายที่ดีจะมีผลต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในแต่ละช่วงอายุ ก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน
แต่ภายหลังการเลือกตั้งในปี 2562 นโยบายถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งเงินอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต่อให้มีเงินมากแต่ไม่มีนโยบายที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประชาชนก็อาจจะไม่เลือก หลายครั้งในหลายพื้นที่แม้ว่าเราจะเห็นผู้สมัคร ส.ส.ที่มีเงินเยอะก็ไม่อาจนำพาตัวเองเข้าสู่สภาฯได้
ขณะที่ในการเลือกตั้งในปี 2562 หลายพื้นที่หลายพรรคก็พบว่าไม่ได้ใช้เงินเลย หรือใช้เงินน้อยมากก็สามารถเข้าสู่สภาฯได้ ขณะที่เรื่องของการซื้อเสียงจะค่อย ๆ หายไปโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถรับเรื่องแบบนี้ได้
"ปชป." รักษาที่มั่นสุดท้ายไม่ง่าย
นายเอกรินทร์ ยังกล่าวว่า ขณะที่ตัวเลข ส.ส.ภาคใต้ ที่เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องสำคัญของเจ้าของพื้นที่เดิม เช่น พรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องรักษาที่มั่นสุดท้าย แต่ก็มีพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศอย่างชัดเจนที่จะขอแบ่งที่นั่งในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งการเอาจริงของพรรคภูมิใจไทยทำให้พรรคประชาธิปัตย์จะต้องปรับตัวเพื่อยืนหยัดในการรักษาที่นั่ง
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐซึ่งก็มีทรัพยากรจำนวนมาก แม้ว่าจะยังไม่เคลื่อนไหวมากนัก แต่เชื่อว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าในการแข่งขันในพื้นที่ภาคใต้จะค่อนข้างดุเดือด จากการแข่งขันของทั้ง 3 พรรค ซึ่งจะเป็นการวัดฝีมือของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า จะสามารถรักษาพื้นที่ได้มาก-น้อยแค่ไหน
แต่ต้องไม่ลืมว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ทำงานผ่านนางนาที รัชกิจประการ ก็ประกาศจะขอแบ่งที่นั่ง ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาพรรคภูมิใจไทยก็ทำได้ดี
กระแสข่าวความเคลื่อนไหวของพรรคภูมิใจไทยมาแรงมาก และต้องไม่ลืมว่า พรรคภูมิใจไทย คุมกระทรวงใหญ่เช่น ก.ท่องเที่ยวฯ และ ก.สาธารณสุข ที่ดูแลเรื่องโควิด-19 ซึ่งมีผลอย่างมาก
รวมถึงการงัดกันในทางการเมือง ในเรื่องของกฎหมายกัญชาระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย และที่อาจทำให้พรรคภูมิใจไทยเพลี่ยงพล้ำ และกระแสของพรรคประชาธิปัตย์ก็จะกลับมาเพราะการปฏิเสธกัญชา
ขณะที่พรรคสร้างอนาคตไทย เชื่อว่า อยู่ระหว่างการหาตัวผู้สมัครซึ่งมีอดีตขุนพลของพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมหลายคนและยังไม่ทำงานแบบเต็มที่
ส.ส.ย้ายพรรคชัดเจนหลัง 30 ก.ย.
นายเอกรินทร์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ ได้เห็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษการนายกฯ ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคพลังประชารัฐ และแนวโน้มการโยกย้ายพรรคของอดีต ส.ส.หลังจากวันที่ 30 ก.ย.จะชัดเจนมากขึ้นภายหลังการตัดสินกรณีการดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ จะคว้าเก้าอี้ ส.ส.จำนวนมาก ในพื้นที่ภาคใต้ อาจจะต้องเหนื่อยและไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ที่ในการเลือกตั้งปี 62 ที่เกือบในทุกพื้นที่ก็มาในอันดับ 3-4 ก็หมายความว่า ฐานเสียงของคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยกว่า 70- 80 % ก็จะไปที่พรรคก้าวไกล ซึ่งแม้ว่าผลงานในพื้นที่จะไม่โดดเด่นแต่มีผลงานในสภาฯ ซึ่งคะแนนเสียงในพื้นที่ภาคใต้จะกระจายมากขึ้น และโอกาสของพรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่ง่ายนัก
รวมถึง ในแต่ละจังหวัดมีกลุ่มต่าง ๆ ที่เกาะกุมพื้นที่อยู่ และในเร็ว ๆ นี้การประกาศตัว ว่าที่ ส.ส.ในพื้นที่ 7 เขตของ จ.สุราษฎร์ธานี ก็ถือว่า จะเป็นตัวชี้วัดว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะรักษาพื้นที่ได้ทั้งหมดหรือไม่