ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บังเกอร์น้ำสูง 2 เมตรป้องโบราณสถานเกาะเมืองกรุงเก่า

ภัยพิบัติ
26 ก.ย. 65
10:20
1,361
Logo Thai PBS
บังเกอร์น้ำสูง  2 เมตรป้องโบราณสถานเกาะเมืองกรุงเก่า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ระดับน้ำแม่เจ้าพระยาสูงล้นตลิ่ง วัดไชยวัฒนาราม และวัดกษัตราธิราชวรวิหาร โบราณสถานสำคัญใน จ.พระนครศรีอยุธยา ติดตั้งกำแพงสูง 2 เมตร พร้อมเครื่องสูบน้ำป้องกันความเสียหาย

วันนี้ (26 ก.ย.2565) นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่า ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,989 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 2,154 ลบ.ม.ต่อวินาที  

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมรับมือพายุไต้ฝุ่นโนรู ที่มีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณภาคอีสานด้านตะวันออกของไทย บริเวณ จ.มุกดาหาร หรือจ.อุบลราชธานี ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ อาจทำให้ภาคอีสานโดยเฉพาะตอนกลางและตอนล่าง มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีลมแรง

หลังจากนั้นกลุ่มฝนจะเลื่อนมาตกบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล ตามแนวการเคลื่อนตัวของพายุ ผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้

ติดพนังกั้นน้ำสูงกว่า 2 เมตรป้องโบราณสถาน

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สำรวจพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา พบว่าเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา นำพนังกั้นน้ำสูง 2 เมตร มาติดตั้งในจุดฟันหลอ เพื่อป้องกันน้ำท่วม เนื่องจากระดับน้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงจนแตะขอบริมตลิ่ง และมีกระแสน้ำค่อนข้างไหลเชี่ยว 

 

โดยเฉพาะโบราณสถานสำคัญในพื้นที่เกาะเมือง ด้านหน้าวัดไชยวัฒนาราม กรมศิลปากร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และทหารติดตั้งพนังกั้นน้ำสูง 2 เมตร เป็นระยะทาง 155 เมตร และวางแนวกระสอบทรายด้านล่างเพื่อไม่ให้น้ำซึมเข้าสู่โบราณสถาน โดยมีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่และมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง

ขณะที่บริเวณวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่นอกเกาะเมืองทางด้านทิศตะวันตก พบว่ามีการทำกำแพงสูงป้องพระอุโบสถสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าด้านหน้าวัดจะพบว่าน้ำเริ่มพ้นแนวกำแพงหน้าวัดมาแล้ว 

 

นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงสโบราณสถาณที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการป้องกันคือการทำพนังกั้นน้ำแบบเหล็ก เมื่อน้ำมาจะกางออก

ในช่วงสถานการณ์ปกติจะพับเก็บได้ ส่วนในพื้นที่อื่นจะใช้กระสอบทรายทำเป็นกำแพงกันน้ำ โดยได้ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ส่วนจิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับผลกระทบจากน้ำ เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรเข้าไปศึกษา และพูดคุยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเข้าไปบูรณะให้สมบูรณ์ อนุรักษ์ไว้ให้เหมือนเดิมมากที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง