ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการชี้ “ประตูช้างเผือก” ไม่ใช่โบราณสถาน แต่เอกสารกรมศิลป์บอกว่า "ใช่"

ภูมิภาค
26 ก.ย. 65
13:53
1,368
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้ “ประตูช้างเผือก” ไม่ใช่โบราณสถาน แต่เอกสารกรมศิลป์บอกว่า "ใช่"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิชาการระบุ “ประตูช้างเผือก” ที่พังทลายลงมา ไม่ได้เป็นโบราณสถาน แต่มาสร้างใหม่ภายหลัง ขณะที่เอกสารกรมศิลปากร ยัน “เป็นโบราณสถาน” สร้างมาพร้อมเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 1839

หลังฝนตกลงมาอย่างหนักเมื่อคืนวันที่ 24 ก.ย.2565 ต่อเนื่องถึงวันที่ 25 ก.ย. ทำให้ประตูช้างเผือก และกำแพงเมืองเก่า ของเมืองเชียงใหม่พังถล่มลงมา หลายคนแสดงความเห็นบนโซเชียลมีเดียว่า มีความเสียดายโบราณสถานเก่าแก่ของล้านนา

ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุรพล ดำริห์กุล อดีตอาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า

 

ประตูช้างเผือกไม่ใช่โบราณสถาน
แต่เป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ที่เป็นทัศนอุจาดบนที่ดินโบราณสถาน
สืบเนื่องฝนตกหนักเมื่อวานนี้ ทำให้ประตูช้างเผือก เมืองเชียงใหม่ พังทลายถล่มลงมา
ท่ามกลางความตกใจและเสียดายของชาวเชียงใหม่
แต่ผมว่าโชคดีนะ พังทลายลงได้เสียก็ดี
เพราะจะได้รู้กันเสียทีว่า ประตูเมืองเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกปลอม ก่อสร้างขึ้นใหม่โดยการออกแบบอย่างน่าเกลียดน่าชัง เพราะมันไม่ใช่ลักษณะและแบบแผนของประตูเมืองที่เป็นสากล

โดยข้อเท็จจริงประตูเมืองเชียงใหม่ที่เห็นในปัจจุบัน ล้วนเป็นสิ่งสร้างใหม่ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะประตูเมืองของเมืองโบราณเชียงใหม่ ถูกไถทำลายไปหมดแล้ว (มีรูปประตูเมืองเก่าเหลืออยู่ 2 รูป คือ ประตูท่าแพ กับประตูช้างเผือก)

รวมทั้งอิฐกำแพงเมืองเก่าก็ถูกประมูลขายอิฐ เพื่อให้บ้านเมืองกว้างขวางทันสมัยตั้งแต่สมัยกระทรวงธรรมการ

ต่อมาเทศบาลเมืองเชียงใหม่(ในขณะนั้น)เมื่อราวแปดสิบปีที่ผ่านมา (สมัยนายทิม โชตนา เป็นนายกเทศมนตรี) ได้ออกแบบและสร้างประตูขึ้นใหม่ 5 ประตู (โดยไม่มีพื้นฐานของหลักฐานเก่าเลย)

ทุกวันนี้คนเชียงใหม่ลืมหมดแล้ว คิดว่าประตูที่เห็น คือ ประตูช้างเผือก สวนดอก เชียงใหม่ และสวนปรุง เป็นโบราณสถานเก่าแก่ของเมือง

ยกเว้นประตูท่าแพในปัจจุบันนั้น นายชัยยา พูนศิริวงศ์ ผวจ.เชียงใหม่ ได้รื้อประตูที่เทศบาลสร้างใหม่ออก และขออนุญาตกรมศิลปากรสร้างใหม่ ตามรูปแบบภาพเก่าขึ้นเมื่อ พ.ศ.2529

ดังนั้นขอชาวเชียงใหม่เข้าใจเสียให้ถูกต้องว่า ประตูช้างเผือกที่พังทลาย ไม่ใช่โบราณสถานเก่าแก่ รวมทั้งสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ถ้าคิดจะบูรณะประตูช้างเผือกตามแบบเก่า ก็เสียงบประมาณแผ่นดินเปล่า เพราะไม่ใช่โบราณสถาน

ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กทม. มีภาพเก่าของประตูช้างเผือกอยู่ คงเป็นโอกาสอันดีที่กรมศิลปากรจะได้ร่วมมือกับเทศบาลนครเชียงใหม่ ทำสิ่งที่ถูกต้องให้กับเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง เช่นเดียวกับประตูท่าแพ ที่ได้สร้างใหม่ตามภาพถ่ายเก่ามาแล้ว

อีกสองสามวันพายุใหญ่จะเข้าเชียงใหม่ ฝนคงตกหนัก

ภาวนาว่า ขอให้ประตูเมืองอุจาดสร้างใหม่ที่เหลืออยู่อีก 3 ประตู พังทลายลงให้หมด เสียได้ก็ดีครับ

อย่างไรก็ตาม บนเพจ “เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น” โพสต์ข้อความถึงเรื่องเดียวกันว่า

 

ประตูหัวเวียง ของเชียงใหม่ คือ #ประตูช้างเผือก ภาพเมื่อ 128 ปี ก่อนยุค #พระเจ้าอินทวิชยานนท์
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมือง ถือว่าเป็น #ประตูมงคล
ในพิธีราชาภิเษก ตามโบราณราชประเพณีล้านนา
กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่จะเสด็จเข้ามาที่ประตูนี้
มาตั้งแต่ครั้งที่ #พญามังราย ทรงสร้างเวียงนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ขึ้น
พระองค์ก็ได้เสด็จเข้าเมืองผ่านประตูหัวเวียง แห่งนี้เช่นกัน #เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น

 

ในพงศาวดารโยนกกล่าวไว้ว่าเมื่อ พญามังราย ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ได้ขุดคูเมืองทั้ง 4 ด้าน นำดินขึ้นมาถมเป็นแนวกำแพง โดยได้เริ่มขุดที่บริเวณมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คือ แจ่งศรีภูมิ

อันเป็นทิศมงคลก่อน แล้วก่ออิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย
ข้างบนกำแพงปูอิฐตลอดแนวทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้าน

ประตูหัวเวียง เปลี่ยนชื่อมาเป็น ประตูช้างเผือก เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 23 เมื่อพญาแสนเมืองมาได้สร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือก 2 เชือก เป็นอนุสรณ์แก่มหาดเล็ก 2 คนที่ช่วยพระองค์ให้รอดพ้นจากภัยสงคราม แต่เดิมรูปปั้นช้างเผือกทั้ง 2 เชือก อยู่ริมถนนโชตนาด้านละเชือก

 

ภาพประตูช้างเผือก เชียงใหม่ เมื่อ 128 ปีก่อน
ในยุคของพระเจ้าอินทวิชยานนท์

แหล่งที่มาของภาพ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์ ภูเดช แสนสา
ขอบคุณภาพ ข้อมูลจาก JaiYP Pöngpãk

ขณะที่เอกสารบนเว็บไซต์ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ระบุถึง “กำแพงเมืองและคูเมืองชั้นนอก” ว่า โบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียน โบราณสถานในเขตจังหวัดเชียงใหม่
กำแพงดินและคูน้ำไม่ปรากฏหลักฐานว่า สร้างเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่า จะเป็นกำแพงและคูเมืองเดิมที่พญามังราย ทรงสร้าง เมื่อแรกสร้างเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.1839

บางท่านเชื่อว่า น่าจะเป็นกำแพงและคูที่สร้างในสมัยพระยาโกษาธิบดียกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2200 และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พงศาวดารกรุงธนบุรีได้กล่าวว่าในปี พ.ศ.2314 กองทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ยกทัพผ่านกำแพงดินนี้ก่อนจะเข้าถึงเมืองเชียงใหม่

กำแพงและคูเมืองในปัจจุบัน เริ่มต้นตั้งแต่บริเวณแจ่งกู่เฮือง ฝั่งตรงข้ามกับถนนช่างหล่อ พุ่งไปทางทิศใต้ แนวเดียวกับกำแพงเมืองเชียงใหม่ ด้านทิศตะวันตก แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางด้านตะวันออก โอบเมืองเชียงใหม่ ไปทางด้านตะวันออก ขึ้นไปทางเหนือ ผ่านถนนท่าแพ ไปบรรจบกับกำแพงเมืองเชียงใหม่ ตรงมุมแจ่งศรีภูมิ บริเวณวัดไชยศรีภูมิ โดยมีคูเมืองขนานไปตลอด

ซึ่งคูเมืองบางส่วนคงให้เห็น บางส่วนถูกปรับให้มีขนาดเล็กลง และเปลี่ยนเปลง ทิศใต้มีคลองแม่ข่า ไหลผ่านคูเมืองลงไปทางทิศใต้ บรรจบกับแม่น้ำปิง โดยทั่วไปยังคงสภาพให้เห็นน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ถูกอาคารสร้างทับ ปรับพื้นที่เกือบตลอดแนวป้อมที่คงอยู่ในปัจจุบันคือ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เรียก “ป้อมหายยา” ประตูที่พบที่ยังคงอยู่คือ ประตูหายยา ประตูก้อม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง